อากาศร้อนเกิน เผชิญอันตราย (ตอนที่ 4 และตอนสุดท้าย)

แพทย์หญิงพรภุชงค์ เลาห์เกริกเกียรติ โรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวว่า หากมีอาการโรคลมแดด (Heat stroke) ต้องรีบพาผู้ป่วยเข้าไปในที่ร่ม แล้วปลดเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก ไม่ควรให้มีคนยืนมุงดู และต้องอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยให้นอนราบ ยกขาสูง ประคบเย็นที่ผิวหนัง หากผู้ป่วยยังคงมีสติอยู่ ก็แนะนำให้จิบน้ำเปล่าบ่อยๆ หากผู้ป่วยหมดสติ แนะนำให้รีบส่งโรงพยาบาลทันที เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จะตรวจเช็กชีพจร ความดันโลหิต และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

นอกจากการดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดการสูญเสียน้ำแล้ว ควรรับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง หากมีอาการแสบร้อน แดง ควรบำบัดด้วยการประคบเย็นและอาบน้ำบ่อยๆ แต่ไม่ควรฟอกขัดถูตัว พยายามอยู่ในที่อากาศเย็น แพทย์อาจให้ยาทาประเภทสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง แต่ในกรณีรุนแรง อาจสั่งให้กินยาเพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง

ในการบำบัดรักษา ต้องรีบลดอุณหภูมิของร่างกายทันที ผู้ป่วยควรได้รับการโยกย้ายไปยังบริเวณที่เย็น (ภายในอาคาร หรืออย่างน้อยในที่ร่ม) และปลดเสื้อผ้าให้ระบายความร้อนทางอ้อม (Passive cooling) การระบายความร้อนทางตรง (Active cooling) ได้แก่ การอาบน้ำผู้ป่วย โดยเฉพาะด้วยน้ำเย็น หรือใส่เสื้อที่ใช้รักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย (Hyperthermia vest)

อย่างไรก็ตาม การห่อตัวผู้ป่วยด้วยผ้าเช็ดตัวหรือเสื้อผ้าที่เปียก อาจกลายเป็นฉนวน (Insulation) ที่เพิ่มอุณหภูมิร่างกายได้ การจำกัดความเย็นให้อยู่บริเวณศีรษะ คอ ลำตัว (Torso) และขาหนีบ (Groin) จะช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ อาจใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่ลดความชื้น (Dehumidify) ได้ด้วย เพื่อช่วยการระเหย (Evaporation) ของน้ำให้เร็วขึ้น

วิธีการหนึ่ง ที่ใช้คน 4–5 คน ช่วยกันพยุงผู้ป่วยให้ลงนอนแช่ในอ่างน้ำ (Bathtub) โดยใช้น้ำเย็น (Cool) แต่ไม่เย็นจัด (Cold) เรียกว่า “Immersion method” ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วไป แต่ต้องคอยเฝ้าระวัง (Monitor) ระหว่างกรรมวิธีบำบัดดังกล่าว และต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่หมดสติ แต่ถ้าไม่มีทางเลือกอื่น ก็ใช้วิธีนี้ได้ แต่ต้องระวังศีรษะผู้ป่วยให้อยู่เหนือน้ำตลอดเวลา การให้ผู้ป่วยนอนแช่ในน้ำเย็นจัด จะไม่ได้ผล (Counterproductive) เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหลอดเลือดตีบ (Vasoconstriction) ในผิวหนัง แล้วขัดขวางการระบายความร้อนออกจากร่างกาย

การให้น้ำแก่ร่างกาย (Hydration) เป็นความสำคัญสูงสุดในการทำให้ผู้ป่วยเย็นกายลง จะโดยการดื่มน้ำ (Oral rehydration) ก็ได้ หรืออาจทดแทนด้วยน้ำดื่มที่มีสารละลายเข้มข้นของเกลือเท่ากับในโลหิต (Isotonic drink) ซึ่งวางขายในท้องตลาด การให้น้ำ [เกลือ] ทางหลอดเลือดดำ (Intravenous hydration) อาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่รู้สึกมึนงง หมดสติ เพราะไม่สามารถให้ดื่มน้ำเองได้

ข้อสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์เช็ดตัว เพราะจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) และสูญเสียความรู้สึก [สติ] อาการผู้ป่วยควรได้รับการประเมินตลอดเวลา เพื่อให้เกิดสภาวะคงที่ (Stability) โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ควรให้ผู้ป่วยนอนในท่าฟื้นตัว (Recovery position) เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีการอุดกั้นทางเดินลมหายใจ (Airway) และควรเฝ้าระวังอัตราการเต้นของหัวใจ และการหายใจ ถ้าจำเป็น อาจต้องลงมือปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardiopulmonary resuscitation: CPR) อาทิ ในกรณีที่ ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Cardiac arrest)

แหล่งข้อมูล:

  1. "หน้าร้อน" ระวังโรคลมแดด http://www.komchadluek.net/detail/20120424/128717/หน้าร้อนระวังโรคลมแดด.html [2012, April 29].
  2. Heat illness. http://en.wikipedia.org/wiki/Heat_illness [2012, April 29].