อากาศร้อนเกิน เผชิญอันตราย (ตอนที่ 2)

นพ. อัษฎางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า เมื่ออากาศร้อนเหงื่อจะออกมากกว่าปรกติ เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลง แต่ในกรณีที่เกิดโรคลมแดด กลไกควบคุมความร้อนในร่างกายจะล้มเหลว ทำให้เหงื่อออกน้อย หรือไม่ออกเลย เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น เนื่องจากร่างกายขาดน้ำปริมาณมาก จนไม่เพียงพอต่อการผลิตเหงื่อ ซึ่งเป็นผลให้บางคน อาจถึงขั้นหมดสติไปเลย

โดยทั่วไป หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องทันท่วงที ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคไต นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือในช่วงที่อากาศร้อนจัด โดยปรับเปลี่ยนเวลาให้มาทำงานในตอนเช้าหรือตอนเย็นแทน หยุดพักบ่อยๆ สวมเสื้อผ้าบางๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ และต้องดื่มน้ำเปล่ามากๆ

เด็กๆ และผู้ใหญ่สูงอายุ หรือคนพิการ มีความเสี่ยงสูงต่อการตายเนื่องจากโรคลมแดด (Heat stroke) อาทิ หากถูกปล่อยไว้ในรถที่จอดอยู่ แม้จะเปิดหน้าต่างบางส่วนทิ้งไว้ แต่กลุ่มคนนี้ อาจไม่สามารถสื่อสารทางวาจาถึงความรู้สึกอึดอัดจากความร้อน (หรืออาจไม่ได้ยินภายในรถที่ปิดอยู่) ความทุกข์ร้อนนี้อาจไม่ได้เป็นที่สังเกตของคนรอบข้าง

ระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึง พ.ศ. 2554 อย่างน้อยเด็ก 500 คนในสหรัฐอเมริกา ถึงแก่ความตายในรถที่มีความร้อนสูง และในจำนวนนี้ 75% มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เมื่ออุณหภูมิภายนอกรถมีเพียง 70 °F (หรือ 21 °C) อุณหภูมิภายในรถอาจสูงเกิน 120 °F (หรือ 49°C) แม้จะเปิดหน้าต่างบางส่วนทิ้งไว้

สถิติที่น่าสนใจในกรณีเด็กตายในรถที่มีความร้อนสูงก็คือ กว่าครึ่งหนึ่งของอุบัติการณ์ เกิดจากความหลงลืมของพ่อแม่ ว่ามีเด็ก [ทารก] อยู่ในรถ อีก 18% เกิดขึ้นหลังจากที่พ่อแม่ตั้งใจให้เด็ก [ทารก] รออยู่ในรถ โดยไม่เข้าใจว่า อุณหภูมิในรถอาจสูงประมาณ 2 เท่า ของอุณหภูมิภายนอกรถ และอีก 30% เกิดจากการที่เด็กปีนเข้าไปเล่นในรถเองโดยพ่อแม่ไม่ทราบ

กลุ่มอาการโรคหลงลืมเด็กทารก (Forgotten baby syndrome: FBS) เป็นศัพท์ “เทียม” ทางการแพทย์ (Pseudo-medical term) สำหรับอันตรายที่ผู้ให้บริการสุขภาพที่เป็นผู้ใหญ่ หลงลืมเด็กทารกภายใต้ความดูแลของตน จนเด็กทารกนั้นได้รับอันตรายในเวลาต่อมา แม้คำว่า “กลุ่มอาการโรค” นี้ จะไม่ใช่อาการทางการแพทย์ (Medical condition) แต่ก็เป็นที่ใช้กันแพร่หลายในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเทอร์เน็ต และสื่อยอดนิยมอื่นๆ

ความเสี่ยงของโรคลมแดด สามารถลดลงได้โดยการเพิ่มความระมัดระวังในการสังเกต เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะร้อนเกินไป (Overheating) และภาวะขาดน้ำ (Dehydration) การสวมเสื้อผ้าที่เบาบางอย่างหลวมๆ จะทำให้เหงื่อที่ออกระเหยไปในอากาศ แล้วร่างกายก็จะเย็นลง การสวมหมวกปีกกว้างสีอ่อนจะช่วยลดความร้อนจัดจากแสงแดดที่มากระทบบริเวณศีรษะและลำคอ พร้อมทั้งปกป้องอันตรายต่อดวงตา หากมีรูระบายอากาศในหมวก ก็จะช่วยให้เหงื่อออกระเหยทำให้ศีรษะเย็นลง

ควรหลีกเลี่ยงการอออกกำลังกายอย่างหักโหม (Strenuous exercise) ระหว่างชั่วโมงที่มีแดดจัดในอากาศร้อน และไม่ควรอยู่ในสภาวะปิด อาทิในรถ เพราะอุณหภูมิภายในรถอาจสูงถึง 200°F (หรือ 93°C) ณ อุณหภูมิภายนอกระดับที่ประจวบเหมาะกับสภาพของแสงแดด สีและชนิดของรถ ในสภาวะดังกล่าว หากไม่มีกลไกทำให้เย็นลงอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะต่อเด็กเล็ก

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.สระแก้ว เตือนอากาศร้อนมากระวังเป็นฮีตสโตรก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000050658 [2012, April 27].
  2. Heat illness. http://en.wikipedia.org/wiki/Heat_illness [2012, April 27].