อากาศร้อนเกิน เผชิญอันตราย (ตอนที่ 1)

นพ. อัษฎางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทันทีอย่างมากในขณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกาย จึงขอเตือนประชาชนให้ระวังป้องกันโรคภัย ที่จะมากับอากาศร้อน ไม่ว่าจะเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากได้รับความร้อนมากเกินไป หรือการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาในสภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยปราศจากการชดเชยด้วยน้ำหรือเกลือแร่ที่สูญเสียไปอย่างเพียงพอ อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้แม้ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงก็ตาม

โรคจากความร้อน (Heat illness) เป็นช่วง (Spectrum) ของความผิดปรกติ (Disorders) ที่เกิดจากการได้รับความร้อนจากแสงแดด ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย อาทิ โรคตะคริวแดด (Heat cramp) เป็นลม [หมดสติชั่วคราว] เพราะแดดจัด (Heat syncope) และโรคเพลียแดด (Heat exhaustion) จนถึงอาการรุนแรง ที่เรียกว่า “โรคลมแดด” (Heat stroke)

นิยามของคำว่า “โรคลมแดด” คืออุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40.6 °C (หรือ 105.1 °F) เกิดจากการได้รับความร้อนจากสภาพแวดล้อม [ที่มีแดดจัด] โดยปราศจากการปรับอุณหภูมิของร่างกาย (Thermoregulation) ซึ่งแตกต่างจากการเป็นไข้ (Fever) ที่จะมีการเพิ่มขึ้นในอุณภูมิทางสรีระ (Physiology) ณ จุดที่กำหนด (Set point) ของร่างกาย

เราสามารถแยกประเภทของโรคจากความร้อนได้ดังนี้

  • โรคลมแดด – มีอาการผิวหนังแห้ง ชีพจร (Pulse) เต้นเร็วและแรง รวมทั้งวิเวียนศีรษะ (Dizziness)
  • โรคเพลียแดด – อาจเป็นอาการเบื้องต้น (Precursor) ของโรคลมแดด ซึ่งได้แก่เหงื่อออกมาก หายใจเร็ว และชีพจรเต้นเร็ว และรู้สึกอ่อนเพลีย
  • หมดสติชั่วคราว – “เป็นลม” เพราะแดดจัด
  • อาการบวมน้ำ (Edema) จากแดดจัด เช่นกัน
  • โรคตะคริวแดด – ปวดกล้ามเนื้อ หรือกระดูกชักเกร็ง (Spasm) ที่เกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังการหักโหม ท่ามกลางอากาศร้อน
  • ผื่นคันจากแดด (Heat rash) – ระคายเคืองผิวหนังจากการที่เหงื่อออกมากกว่าปรกติ
  • การชักเกร็งจากแดด (Heat tetany) – มักเกิดเป็นช่วงสั้น จากความเครียด (Stress) ในสภาวะแดดจัดๆ มีการ ระบายอากาศเร็วเกินปรกติ (Hyperventilation) ปัญหาการหายใจ (Respiratory) อาการชา [ขาดความรู้สึก] (Numbness) หรือ อาการเป็นเหน็บ (Tingling) หรือกระดูกชักเกร็ง

โรคลมแดด มักมาพร้อมกับภาวะตัวร้อนเกิน (Hyperthermia) หรือไข้สูง ผนวกกับความสับสน (Confusion) และเหงื่อไม่ออก สารที่เป็นอุปสรรคต่อสภาพเย็น และเป็นสาเหตุของการขาดน้ำ (Dehydration) ได้แก่ สุรา (Alcohol) กาเฟอีน (Caffeine) สิ่งกระตุ้น (Stimulants) การใช้ยา (Medications) และการเปลี่ยนแปลงทางสรีระที่เกี่ยวข้องกับชราภาพ ตามปรกติ สารเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดโรคลมแดด ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการออกกำลังกายหักโหมของบรรดาหนุ่มสาวที่ไม่มีปัญหาสุขภาพหรือการใช้ยา แม้แต่ในหมู่นักกีฬาและทหารเกณฑ์ใหม่

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.สระแก้ว เตือนอากาศร้อนมากระวังเป็นฮีตสโตรก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000050658 [2012, April 26].
  2. Heat illness. http://en.wikipedia.org/wiki/Heat_illness [2012, April 26].