อากาศที่ไม่เป็นมิตร (ตอนที่ 6)

อากาศที่ไม่เป็นมิตร-6

      

      การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศจะก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ อายุ ระยะเวลาที่สัมผัส เช่น อัตราการหายใจของเด็กจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ หรือ ระหว่างที่มีการออกกำลังกายจะทำให้มีการหายใจมากกว่าปกติ เป็นต้น

      การขาดระบบการถ่ายเทอากาศที่ดีในบ้านซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่อาศัย ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น การสูดสารระเหยง่ายที่เกิดจากสีทาบ้าน ฝุ่นที่เกิดจากสีที่ผสมสารตะกั่ว สเปรย์ปรับอากาศ ธูป การใช้สเปรย์ฆ่าแมลง การเผาถ่าน

      ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรค (Pollution-related diseases) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) โรคเกี่ยวกับปอด (Lung disease) การติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคมะเร็ง และผลกระทบอื่นๆ

      โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)

      มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีระดับมลพิษทางอากาศที่สูง จากงานวิจัยในปี พ.ศ.2550 พบว่า ในผู้หญิง มลพิษทางอากาศจะมีความสัมพันธ์กับการเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดมาเลี้ยง (Ischemic stroke) แต่ไม่สัมพันธ์กับอัมพาตชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhage stroke)

      โรคเกี่ยวกับปอด (Lung disease)

      งานวิจัยพบว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหอบหืด (Asthma) และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (ซึ่งรวมถึงหลอดลมอักเสบเรื้อรัง - Chronic bronchitis และถุงลมโป่งพอง - Emphysema) นั้น จะสูงตามสภาพของมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังพบว่า มลพิษทางอากาศไปลดการทำงานของปอด และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่อีกด้วย

      โรคมะเร็ง (Cancer)

      จากผลการศึกษาในปี พ.ศ.2550 มีหลักฐานพบว่า การถูกล้อมรอบด้วยมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละออง (Fine particulates) ในระดับ PM2.5 เป็นระยะเวลานาน

      ระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system)

      ในเดือนมิถุนายน 2557 The University of Rochester Medical Center ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Environmental Health Perspectives ว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุให้เซลล์สมองถูกทำลาย มีผลกระทบต่อความจำระยะสั้น ความสามารถในการเรียนรู้ และอาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคออทิสซึ่ม (Autism) และโรคจิตเภท (Schizophrenia) โดยเฉพาะเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

แหล่งข้อมูล:

  1. Air pollution. https://en.wikipedia.org/wiki/Air_pollution [2018, March 12].