อากาศที่ไม่เป็นมิตร (ตอนที่ 5)

อากาศที่ไม่เป็นมิตร-5

      

ตัวอย่างของสารมลพิษ (ต่อ)

  • ซัลเฟอร์ออกไซด์ (Sulfur oxides = SOx) ที่เกิดจากภูเขาไฟและกระบวนการต่างๆ ในอุตสาหกรรม เช่น เหมืองถ่านหินและน้ำมันปิโตรเลียมที่มักจะมีสารซัลเฟอร์ และกระบวนการเผาไหม้ก็ก่อให้เกิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเมื่อมีการออกซิเดชั่น (Oxidation) ก็จะทำให้เกิดไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) กรดซัลฟูริก (H2SO4 ) และกลายเป็นฝนกรด (Acid rain)
  • ไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen oxides = NOx) โดยเฉพาะไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้และเกิดจากการปลดปล่อยประจุของพายุฟ้าคะนอง (Thunderstorms)
  • คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide = CO) เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เป็นพิษ เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือไม้ โดยควันเสียจากเครื่องยนต์เป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่อากาศที่มากเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดหมอกในอากาศ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโรคเกี่ยวกับปอดมากมาย ทั้งนี้ การเผาไหม้ของก๊าซ 1 แกลลอนจะก่อให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศได้มากกว่า 20 ปอนด์
  • สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds = VOC) เช่น ก๊าซมีเทน (Methane = CH4) หรือที่ไม่ใช่มีเทน (Non-methane = NMVOCs) เป็นตัวสำคัญที่มีผลต่อก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global warming) นอกจากนี้ก๊าซที่ไม่ใช่มีเทน เช่น เบนซีน (Benzene) โทลูอีน (Toluene) และไซลีน (Xylene) ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) อีกด้วย
  • สารอนุภาค (Particulates / Particulate matter (PM) / Atmospheric particulate matter / Fine particles) โดยสารอนุภาคบางชนิดก็เกิดตามธรรมชาติ เช่น จากภูเขาไฟ พายุฝุ่น (Dust storms) การเผาป่า เป็นต้น และสารอนุภาคบางชนิดก็เกิดจากฝีมือของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง โรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดละอองเป็นจำนวนมาก ซึ่งฝุ่นเหล่านี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อการทำงานของปอด มะเร็งปอด โรคหอบหืด
  • อนุมูลอิสระที่คงอยู่นาน (Persistent free radicals) ที่อาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและปอด (Cardiopulmonary disease)
  • สารโลหะเป็นพิษ เช่น ตะกั่ว ปรอท
  • สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons = CFCs) ที่ปล่อยออกจากเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เป็นสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน จนทำให้รังสีอัลตราไวโอเล็ตที่เป็นอันตรายตกถึงพื้นโลก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง โรคตา และทำลายพืชพรรณ
  • แอมโมเนีย (Ammonia = NH3) ที่เกิดจากกระบวนการทางการเกษตร มีกลิ่นฉุน ในชั้นบรรยากาศ แอมโมเนียจะทำปฏิกริยากับออกไซด์ของไนโตรเจนและซัลเฟอร์แล้วก่อให้อนุภาคทุติยภูมิ (Secondary particles)
  • กลิ่น เช่น ขยะ ของเสีย และกระบวนการอุตสาหกรรม
  • สารมลพิษกัมมันตรังสี (Radioactive pollutants) ที่เกิดจากการระเบิดของนิวเคลียร์ อาวุธสงคราม และกระบวนการย่อยสลายกัมมันตรังสีตามธรรมชาตอย่างธาตุเรดอน (Radon)

แหล่งข้อมูล:

  1. Air pollution. https://en.wikipedia.org/wiki/Air_pollution [2018, March 11].