อากาศที่ไม่เป็นมิตร (ตอนที่ 1)

อากาศที่ไม่เป็นมิตร-1

      

      นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ รวมทั้งเขตเมือง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือประชาชนควรจะทราบลักษณะการเกิดมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย

      อย่างปัจจัยเรื่องความแปรปรวนของอากาศ ถ้าอากาศเย็นจะมีมลพิษทางอากาศลอยตัวต่ำมากขึ้น แต่ถ้าฝนตกสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนปัจจัยเรื่องระยะเวลาการสัมผัส หากอยู่นอกบ้านและหายใจหรือสัมผัสมากจะมีผลมากขึ้น และถ้าอยู่อาศัยในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น ในเมืองหลวง จะมีผลมากกว่า ดังนั้นประชาชนควรติดตามข้อมูลข่าวสาร คำแนะนำ หรือคำเตือนต่างๆ จากหน่วยงานรัฐอย่างสม่ำเสมอ

      ด้าน นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผอ.โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก คอ ทางเดินหายใจ ทำให้คันเคืองตาแน่นจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก และทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอดแสดงอาการมากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการสัมผัสระยะยาวจะทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่

      นอกจากนี้เมื่อเกิดมลพิษทางอากาศขึ้นจะทำให้คนที่เป็นโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแสดงอาการมากขึ้นเช่นกัน

      นพ.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาพบว่า โอโซนจะเข้าไปทำลายเนื้อปอดอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีอาการเลย ผู้ที่เป็นโรคปอดและหัวใจจะเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กจะทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความไวต่อผลของมลพิษทางอากาศ ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว หากพบอาการผิดปกติต่างๆ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที

      ในขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่กระแสสังคมตื่นตัวกรณีฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่ปกคลุมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก่อนหน้านี้ จนทำให้มีการจัดหาหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ โดยเฉพาะหน้ากาก N95 ว่า

      ยังมีการเข้าใจผิดกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเชื้อโรคหรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตลอดจนการใช้หน้ากากอนามัยอ

      เพราะการใช้หน้ากากอนามัยแบบปกติที่เราเห็นอยู่ทั่วไป เราจะให้ผู้ป่วยใช้เพื่อปกป้องและกันการกระจายของเชื้อโรคเพื่อไม่ให้แพร่ไปสู่ผู้อื่น ดังนั้นผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทุกราย ถ้ามีจิตเป็นสาธารณะ ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น โดยใส่ด้านที่เป็นสีออกด้านนอก

      สำหรับบุคคลที่เป็นปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องใส่ การใส่เพื่อป้องกันโรคจะป้องกันได้ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ในขณะที่การดูแลเรื่องความสะอาดด้วยการล้างมือบ่อยๆ การไม่จับต้องใบหน้า ขยี้ตา จะมีประโยชน์มากกว่าสำหรับคนทั่วไป เพราะจะเป็นการป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือน มลพิษทางอากาศภัยร้ายของคนเมือง. http://www.thaihealth.or.th/Content/40965-เตือน มลพิษทางอากาศภัยร้ายของคนเมือง.html [2018, March 7].
  2. แพทย์ชี้ความเชื่อผิดๆ "หน้ากากอนามัย N95" กันฝุ่น กทม. ใส่จริงอึดอัด-ใส่ผิดก็ไร้ประโยชน์. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000020336 [2018, March 7].