อัลปราโซแลม – ยาเสียสาว (ตอนที่ 2)

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ศกนี้ เป็นต้นไป ร้านขายยาจะไม่สามารถมีและขายอัลปราโซแลมให้กับผู้บริโภคได้อีกต่อไป จึงขอให้ส่งยาที่คงเหลืออยู่คืนให้แก่บริษัทผู้ผลิตหรือผู้ขายทั้งหมด หากพ้นกำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย

สำหรับโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งสภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) กรุงเทพมหานครเฉพาะสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตครอบครอง

นพ. บุญชัย กล่าวอีกว่า ส่วนโรงพยาบาลของรัฐสังกัดหน่วยราชการอื่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง หากไม่ประสงค์จะครอบครองยา ให้ส่งคืนยาแก่ผู้ผลิตหรือผู้ขายก่อนวันที่ 17 มิถุนายน ศกนี้ด้วยเช่นกัน

แต่หากประสงค์จะมีไว้ในครอบครองต้องขออนุญาต โดยในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอที่กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. สำหรับเขตปริมณฑลและส่วนภูมิภาค ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

อย่างไรก็ตาม ผู้มีอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองทุกราย จะต้องจัดทำบัญชีรับ-จ่ายวัตถุออกฤทธิ์ และรายงานทั้งแบบรายเดือนและรายปี ส่ง อย. ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ในส่วนประชาชนผู้บริโภคนั้นสามารถมียาดังกล่าวไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ เพียงแต่ต้องเป็นไปตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพสั่งจ่ายให้เฉพาะตนเองเพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น

การใช้ยาน้ำชนิดเข้มข้น ในแต่ละครั้งให้ใช้กับที่หยอดยาที่แนบมาตามปริมาณที่แพทย์สั่ง โดยหยอดลงในอาหารเหลวหรือกึ่งเหลว เช่น น้ำ น้ำผลไม้ โซดา ซอสแอปเปิล (Applesauce) หรือพุดดิ้ง โดยคนให้เข้ากับอาหารที่รับประทานในแต่ละครั้ง อย่าผสมเผื่อไว้ล่วงหน้า

ถ้าเป็นยาเม็ดชนิดแตกตัวเร็วในช่องปาก ให้นำออกจากขวดตอนที่ต้องกินยาด้วยมือแห้งและวางที่ลิ้นในปากทันที ยาจะละลายและสามารถกลืนไปกับน้ำลาย อาจจะกินพร้อมน้ำหรือไม่มีน้ำก็ได้ สำหรับยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน นั้นให้กลืนทั้งเม็ด ห้ามเคี้ยว บด หรือบีบให้แตก

ในแต่ละครั้ง ห้ามใช้ยาอัลปราโซแลมในปริมาณที่มาก แต่ให้ใช้เป็นประจำหรือใช้เป็นระยะเวลานานได้ ห้ามหยุดยาหรือลดยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ หากหยุดยาทันทีทันใดอาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น การเป็นลมชักอย่างปัจจุบันทันด่วน (Seizure) เกิดอาการสั่นโดยควบคุมไม่ได้ ปวดศีรษะ เห็นภาพมัว มีความไวต่อเสียงหรือแสง การรับรู้กลิ่นเปลี่ยนไป เหงื่อออก ง่วงตลอด ขาดสมาธิ กระวนกระวายใจ หดหู่ หงุดหงิด พฤติกรรมก้าวร้าว กล้ามเนื้อกระตุกถี่ๆ หรือเป็นตะคริว (Cramps) ท้องเสีย อาเจียน ปวดแสบปวดร้อน ชา มือหรือเท้าเป็นเหน็บ ไม่อยากอาหาร หรือ น้ำหนักตัวลด บางทีแพทย์จึงต้องทำการลดยาลงทีละน้อยๆ

บางครั้งอาจมีการใช้ยาอัลปราโซแลมเพื่อรักษาภาวะหดหู่ซึมเศร้า ภาวะกลัวที่โล่งหรือที่ชุมชน (Agoraphobia) หรืออาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อการใช้ยาในการรักษาอาการดังกล่าวก่อน

แหล่งข้อมูล

  1. อย.ย้ำคืน “ยาเสียสาว” 17 มิ.ย.นี้ พร้อมสั่งห้ามผลิต-ขาย-นำเข้า-ส่งออกhttp://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000015686 [2013, March 19].
  2. Alprazolam. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a684001.html. [2013, March 19].