อัมพาต 360 องศา: ตอน 8 ขั้นตอนทางรอดโรคอัมพาต

อัมพาต  360 องศา

8 ขั้นตอนทางรอดโรคอัมพาต น่าสนใจทีเดียวสำหรับใครก็ตามที่ได้ยินประโยคดังกล่าวข้างต้น เพราะไม่มีใครอยากเป็นโรคอัมพาต แล้ว 8 ขั้นตอนนั้นคืออะไร ผมจะค่อยๆ อธิบายทีละขั้นตอน ดังนี้

- ขั้นตอนที่ 1 คือ ทุกคนควรทราบว่าอาการผิดปกติของร่างกายเราแบบไหนที่ต้องสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคอัมพาต อาการที่พบบ่อยๆ คือ

  1. ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท มุมปากตก น้ำลายไหล เคี้ยวอาหารไม่สะดวก
  2. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย หรืออาการชาครึ่งซีกของร่างกาย
  3. พูดลำบาก พูดไม่ชัด นึกคำพูดลำบาก

- ขั้นตอนที่ 2 คือ เมื่อมีอาการสงสัยโรคอัมพาตในขั้นตอนที่ 1 แล้ว คือ การต้องหาทางไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยการโทรแจ้ง 1669 หรือห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ หรือรีบบอกคนในบ้านให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

- ขั้นตอนที่ 3 คือ การรีบไปโรงพยาบาลที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ เช่น โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ ถ้าอาการไม่ดีก็รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที โดยนำส่งที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล

- ขั้นตอนที่ 4 คือ เมื่อไปถึงแผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาล แพทย์ ว่ามีประวัติความผิดปกติทางระบบประสาท สงสัยว่าจะเป็นโรคอัมพาต

- ขั้นตอนที่ 5 แพทย์จะทำการซักประวิติ การตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง จะได้ให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

- ขั้นตอนที่ 6 คือ การตัดสินใจจะเลือกวิธีการรักษาแบบใด กรณีเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน จะรับยาละลายลิ่มเลือดหรือไม่ โดยแพทย์จะอธิบายผลดีผลเสียของการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจ

- ขั้นตอนที่ 7 คือ การรับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดกรณีเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน มีโอกาสหายร้อยละ 50 และมีเลือดออกร้อยละ 6

- ขั้นตอนที่ 8 คือ การรับการรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ จะได้รับการรักษาตามมาตรฐานสากลในทุกโรงพยาบาล

ดังนั้นเราทุกคนควรทราบ 8 ขั้นตอนทางรอดโรคอัมพาตดังกล่าว และจำไว้ว่า “ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต”