อัมพาต 360 องศา: ตอน อัมพาตชนิดสมองขาดเลือด VS เลือดออกในสมอง

อัมพาต  360 องศา

โรคอัมพาตมี 2 ชนิด ตามความผิดปกติของเนื้อสมอง คือ

  1. อัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน (acute ischemic stroke)
  2. อัมพาตชนิดเลือดออกในสมอง (intracerebral hemorrhage)

โรคอัมพาตทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นอัมพาตชนิดไหน ใครมีโอกาสเป็นอัมพาตชนิดไหน

  1. โรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดพบบ่อยในผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ลิ้นหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ส่วนโรคอัมพาตชนิดเลือดออกในสมองพบบ่อยในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดต่ำมากๆ ทานยาละลายลิ่มเลือด โรคตับวาย ไตวาย
  2. โรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดจะมีอาการเกิดขึ้นบ่อยตอนเช้าหลังตื่นนอน อาการเป็นอย่างรวดเร็วและอาจค่อยๆ เป็นมากขึ้นได้ในเวลาหลายชั่วโมง ไม่ค่อยมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ซึ่งตรงกันข้ามกับโรคอัมพาตชนิดเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการในขณะทำกิจกรรม อาการเป็นขึ้นมาทันทีทันใด เหมือนลูกโป่งแตก ปวดศีรษะรุนแรง อาจเจียน อาจมีต้นคอแข็งตึง ซึมลง หรือหมดสติ
  3. การแยกโรคอัมพาตทั้ง 2 ชนิดออกจากกัน ต้องตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์ต้องส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองในผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยโรคอัมพาตทุกรายในกรณีที่มาพบแพทย์เร็ว เพื่อให้การรักษาได้เหมาะสม เนื่องจากวิธีการรักษาโรคอัมพาตทั้ง 2 ชนิดนั้นมีความแตกต่างกัน
  4. การรักษากรณีเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด ถ้ามาทันในช่วงเวลา 270 นาทีชีวิต ถ้าเป็นโรคอัมพาตชนิดเลือดออกในสมอง อาจจะต้องผ่าตัดในกรณีเลือดออกขนาดก้อนเลือดใหญ่ โรคอัมพาตชนิดเลือดออกในสมองเป็นข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด

โดยสรุปถ้าใครมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทใดๆ ก็ตามที่เป็นขึ้นมาอย่างทันทีทันใด หรือเป็นหลังตื่นนอน ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อให้การวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว จะมีโอกาสหายไม่เป็นอัมพาตสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ช้ากว่า