อัมพาต 360 องศา:เมื่อไหร่ผมจะทานข้าวได้

อัมพาต  360 องศา

“คุณหมอครับ ผมทรมานมากเลยครับ ตอนนี้ผมยังทานข้าวได้ไม่ดีเลยครับ ทานแล้วก็จะสำลัก ต้องค่อยๆ ทาน อาหารที่มีน้ำมากๆ ก็ทานไม่ได้ ตอนนี้ผมรักษากับคุณหมอมาปีกว่าๆ แล้วนะครับ เมื่อไหร่ผมจะหายครับ “ ประโยคดังกล่าวเป็นประโยคที่ผู้ป่วยชายอายุ 60 ปีท่านหนึ่งถามผม ผมได้รับคำถามแบบนี้มามากครับว่าเมื่อไหร่จะหาย เมื่อไหร่จะเดินได้ เมื่อไหร่จะพูดได้ เมื่อไหร่จะมองเห็น เมื่อไหร่จะทานข้าวได้ และอื่นๆ อีกมากมายว่าเมื่อไหร่จะหาย……

ผมขออธิบายการหายหรือฟื้นฟูสภาพของเซลล์สมองหรือระบบประสาทส่วนอื่นๆ ด้วยครับ จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าการฟื้นตัวของสมองนั้นจะมีการฟื้นตัวอย่างมากๆ ในช่วง 3 เดือนแรก ภายหลังการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคอัมพาต คือประมาณร้อยละ 50-60 ของการฟื้นตัว หลังจากนั้นที่ 6 เดือนก็ประมาณร้อยละ 75-85 และที่ 12 เดือนก็เกือบจะร้อยละ 100 หมายความว่าส่วนใหญ่แล้วถ้าที่ 1 ปีหลังจากเป็นอัมพาต การฟื้นตัวได้ดีแค่ไหน หลังจากนั้นก็มีการฟื้นตัวอีกไม่มาก แต่ก็ยังมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ได้ตลอดไป

“อย่างงั้นผมก็ไม่ดีกว่านี้แล้วซิครับ ผมก็แย่ซิครับ” ผู้ป่วยถามผมอีกครั้ง ผมจึงบอกไปว่า “จะพูดว่าไม่ดีขึ้นอีก ก็คงไม่ถูกทั้งหมด เพราะถ้าเราพยายามฝึกฝน ทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ อาการของเราก็ต้องดีขึ้น การที่เรารู้ว่าความเป็นจริงของโรคเป็นอย่างไรนั้น ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เราเข้าใจในภาพรวมของคนที่เป็นโรคนี้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยแต่ละรายก็ยังมีความแตกต่างกันได้ครับ เหมือนอย่างที่คุณน้าเป็นอยู่ตอนนี้ สมองส่วนที่คุณน้าขาดเลือดเป็นส่วนก้านสมอง ซึ่งคนไข้รายอื่นๆ เขาจะพูดไม่ได้ เดินไม่ได้ ทานข้าวไม่ได้ หายใจไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่คุณน้าก็ยังดีขึ้นมากๆ แบบมหัศจรรย์ แล้วทำไมเราถึงจะต้องมาสิ้นหวังว่าเรายังไม่หาย จริงแล้วคุณน้าเดินหน้ามาไกลกว่าเป้าหมายหรือความคาดหวังของครอบครัว ของหมอมากแล้ว ผมอยากให้คุณน้ามองอีกมุมหนึ่งว่า เราโชคดีมากๆ ที่ไม่เป็นแบบคนอื่นๆ ตอนนี้เราเกือบจะหายเป็นปกติ เพียงแค่ยังทานอาหารได้ไม่สะดวกแค่นั้นเอง ไม่ใช่เป็นอัมพาตแบบคนอื่นๆ เขา”

ผมไม่ได้ตอบว่าเมื่อไหร่จะหาย แต่ผมอยากให้คนไข้ทุกๆ คนมีความหวัง มีพลังในการดูแลตนเอง และคิดบวกไว้เสมอว่า เราดีนะที่ไม่เสียชีวิต เราดีนะที่ยังพูดได้ เราดีนะที่ยังทานข้าวได้ เราโชดคีนะที่มีครอบครัวดูแลเรา ยังมีผู้ป่วยอัมพาตอีกมากมายที่เขาแย่กว่าเรา เมื่อเราคิดย้อนกลับไปเทียบกับอาการในวันแรกที่มาพบหมอ ว่าเรามีอาการหนักหนาเพียงใด ตอนนี้เราดีขึ้นมามากมาย อย่าไปคิดว่าแต่ก่อนที่เราจะเจ็บป่วย เราแข็งแรงดี ตอนนี้เราแย่จังทำอะไรก็สู้แต่ก่อนไม่ได้ เมื่อเราคิดแบบนี้มีแต่จะบั่นทอนกำลังใจ “เปลี่ยนมุมมองครับ” วิกฤติก็จะกลายเป็นโอกาสได้ครับ