อัมพาต 360 องศา: ตอน เมื่อผมเป็นอัมพาตควรพักการทำงานและใช้สมองนานเท่าไหร่

อัมพาต  360 องศา

ทุกเช้าผมจะต้องไปเดินดูผู้ป่วยกับแพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้านเสมอๆ เพื่อดูผู้ป่วยรายใหม่และติดตามอาการ ความก้าวหน้าขอผู้ป่วยรายเก่าที่นอนโรงพยาบาลมาหลายๆ วัน โดยจะสอบถามผู้ป่วยและญาติว่าพร้อมกลับบ้านเมื่อไหร่ ทางทีมจะได้เตรียมความพร้อมที่บ้านว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง เพราะผู้ป่วยที่ยังหายไม่เป็นปกติ เมื่อกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านก็จะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม เตรียมสถานที่ให้พร้อม รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของญาติด้วยเสมอ

การเดินดูผู้ป่วยเช้านี้ผมมาหยุดที่ห้องพิเศษห้องหนึ่งที่ผู้ป่วยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์ และเป็นผู้บริหารระดับสูงของคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัย ได้สอบถามผมเกี่ยวกับการดูแลตนเองที่บ้านว่าต้องพักนานเท่าไหร่ ต้องลางานนานเท่าไหร่ ต้องงดการตอบอีเมลล์หรือไม่ งดการอ่านหนังสือวิชาการ งดการเขียนงานวิจัยหรือไม่ และอื่นๆ อีกหลายคำถาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้สมอง เพราะผู้ป่วยมีความกังวลใจว่าเมื่อเป็นโรคอัมพาต เป็นโรคของสมอง จึงต้องงดการใช้สมอง แต่ก็มีข้อข้องใจว่าต้องงดใช้สมอง พักสมองนานเท่าไหร่ถึงจะพอดีที่ทำให้สมองฟื้นตัวได้ดี

ผมจึงได้ตอบผู้ป่วยไปว่า “ การเจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาต เป็นโรคที่มีความผิดปกติของสมอง ตอนนี้การรักษาในช่วงระยะเฉียบพลันก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ช่วงต่อไปคือการฟื้นฟูสภาพสมองให้มีการฟื้นตัวให้ดีที่สุด การฟื้นตัวของสมองต้องเกิดจากการที่สมองต้องมีการฝึกการใช้งานให้มากขึ้น มากขึ้นตามลำดับขั้นที่สมองหรือร่างกายเราจะสามารถทำได้แค่ไหนในแต่ละระยะครับอาจารย์ ตอนนี้อาจารย์มีความพร้อมทางร่างกายเต็มที่ อาจารย์ไม่มีอาการอ่อนแรงของแขนขามือ สามารถพูดได้ชัดเจน สามารถคิด ถาม ตอบต่างๆ ได้เป็นปกติแล้ว ดังนั้นอาจารย์ก็สามารถทำอะไรก็ได้ตามที่อาจารย์อยากทำหรือต้องการทำครับ เพียงแค่ผมขออาจารย์ข้อเดียว คือ อย่าเคร่งเครียดมากครับ เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แล้วอาจารย์ต้องทานยาให้สม่ำเสมอ มาพบผมตามนัดครับ และถ้ามีอาการอะไรผิดปกติให้รีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดครับ”

ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแตนเองในผู้ป่วยโรคอัมพาตเป็นปัญหาที่ผมพบบ่อยมากๆ คือ จะเข้าใจว่าต้องนอนพัก ไม่ทำกิจกรรมอะไรเลยนอกจากการทำกายภาพบำบัด ไม่พยายามทำงานใดๆ ไม่พยายามคิด ไม่พยายามช่วยเหลือตนเอง เพราะเข้าใจว่าการทำงานใดๆ จะทำให้สมองเกิดความอ่อนล้า แล้วส่งผลให้สมองไม่ฟื้นตัว

ดังนั้น ผู้ป่วยที่เกิดโรคอัมพาต สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เท่าที่ต้องการทำ ตามที่ร่างกายพร้อม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สมองมีการฟื้นตัวได้เร็ว แต่ต้องไม่ให้เกิดความเครียดนะครับ