อัมพาต 360 องศา: ตอน ควรตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดคอหรือไม่

อัมพาต  360 องศา

โรคอัมพาตเป็นโรคที่พบบ่อยและมีความพิการหลงเหลือได้มาก ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมหรือดำรงชีวิตได้ตามปกติ จึงเป็นโรคที่ทุกคนไม่อยากจะเป็น พยายามหาวิธีมาป้องกัน รักษาตนเองไม่ให้เกิดอาการของโรคอัมพาต ไม่ว่าจะเสียเงินค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ก็ยอม ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การตรวจคัดกรองโรคอัมพาตด้วยการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองบริเวณคอเพื่อทำนายว่าใครจะมีโอกาสการเกิดโรคอัมพาตมากน้อยแค่ไหน การตรวจดังกล่าวมีประโยชน์จริงหรือไม่

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการตรวจหลอดเลือดดังกล่าวก็คือการตรวจหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่จะนำเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมอง โดยการตรวจส่วนใหญ่เป็นการตรวจหลอดเลือดสมองในส่วนที่อยู่บริเวณคอก่อนที่จะเข้าไปสู่ส่วนภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งการตรวจอัลตราซาวด์โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถตรวจหลอดเลือดแดงส่วนที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะได้ ต้องใช้เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่สามารถตรวจหลอดเลือดแดงของสมองภายในกะโหลกศีรษะได้

การตรวจหลอดเลือดแดงสามารถบอกถึงสภาพของหลอดเลือดแดงที่นำเลือดมาเลี้ยงสมองได้ว่ามีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดมากน้อยแค่ไหน และมีการตีบแคบของหลอดเลือดหรือไม่ การตรวจดังกล่าวถ้าพบว่ามีการตีบแคบของหลอดเลือดมากๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดอัมพาตได้สูง เนื่องจากมีการตีบแคบของหลอดเลือด เลือดก็จะไหลเวียนได้ไม่ดี มีโอกาสที่หลอดเลือดจะมีการตีบแคบและเลือดไหลขึ้นมาเลี้ยงสมองไม่ทัน เกิดสภาพสมองที่ขาดเลือดมาเลี้ยงได้ หรือการตรวจพบผนังหลอดเลือดมีความหนาตัวมากขึ้น ก็บ่งชี้ว่าหลอดเลือดดังกล่าวมีโอกาสที่จะตีบแคบได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองบริเวณคอจึงเป็นการตรวจที่มีประโยชน์ แต่ทางการแพทย์พบว่าการตีบแคบของหลอดเลือดหรือการหนาตัวของผนังหลอดเลือดในคนปกติที่ไม่มีโรคอัมพาตหรือไม่เคยเกิดอาการเตือนของโรคอัมพาตมาก่อนนั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับโอกาสการเกิดโรคอัมพาต จึงไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการตรวจเพื่อเช็คสภาพของหลอดเลือดสมองในทุกๆ คนที่ไม่เคยมีอาการของโรคอัมพาต

ปัจจุบันการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองบริเวณคอนั้นมีการส่งตรวจในผู้ป่วยโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่ไม่ได้เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดฝอย (ลาคูนาร์: lacunar) หรือในบางสถาบันจะส่งตรวจในผู้ป่วยอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันและผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบทุกราย เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตีบแคบของหลอดเลือดสมองบริเวณคอ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไปเกี่ยวกับการตีบแคบของหลอดเลือดดังกล่าว เช่น การเพิ่มยาต้านเกร็ดเลือด หรือการผ่าตัดหลอดเลือดดังกล่าว กรณีที่ตรวจพบว่ามีการตีบแคบมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยโรคอัมพาต

โดยสรุปการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองบริเวณคอนั้นเป็นการตรวจที่มีประโยชน์ เพียงแต่ต้องเลือกตรวจในผู้ป่วยโรคอัมพาต การตรวจเพื่อเช็คสุขภาพประจำปีนั้นยังไม่มีข้อมูลถึงความคุ้มค่าทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้