อัมพาต 360 องศา: ตอน อาการโรคอัมพาตเป็นอย่างไร

อัมพาต  360 องศา

หลายคนคงสงสัยว่าอาการโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมองเป็นอย่างไร ต้องเดินไม่ได้ พูดไม่ได้หรือเปล่า ลองติดตามครับว่าอาการอัมพาตมีอาการอย่างไรบ้าง

อาการที่พบบ่อยๆ ที่ต้องรู้อย่างดี คือ

1. อาการแขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย แขน ขาอ่อนแรงเพียงเล็กน้อย หรือหยิบจับไม่ถนัด กำมือไม่แน่น หรือรุนแรงจนเคลื่อนไหวไม่ได้ เน้นว่าอาการอ่อนแรงส่วนใหญ่เป็นทั้งแขนและขาครึ่งซึกของร่างกาย มีเพียงส่วนน้อยที่อ่อนแรงเฉพาะแขนหรือขาเท่านั้น ถ้าอ่อนแรงของขา 2 ข้างพร้อมกันโอกาสเป็นโรคอัมพาตยิ่งน้อยมากๆ

2. ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ใบหน้าข้างที่มีอาการจะไม่มีแรง คือ มีปัญหาหลับตาไม่สนิท มุมปากตก น้ำลายไหลออกมาจากมุมปากด้านที่ตกได้

3. พูดไม่ชัด พูดติดขัด นึกคำพูดไม่ออก

“ทั้งนี้ อาการที่พบไม่บ่อย ที่ต้องรู้ คือ

ก. อาการเวียนศีรษะ เดินเซ

ข. อาการพูดจาสับสน หรือไม่พูด ฟังไม่เข้าใจ

ค. อาการชาแขนขา ลำตัว ด้านใดด้านหนึ่ง

ง. อาการอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ไม่รู้ซ้าย-ขวา เรียกชื่อไม่ถูก

ลักษณะที่สำคัญของโรคอัมพาต คือ อาการผิดปกติข้างต้นเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใด โดยมักเกิดขึ้นอยู่ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ลิ้นหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด อ้วน สูบบุหรี่ และไม่ออกกำลังกาย

ดังนั้นถ้าใครมีอาการผิดปกติข้างต้นให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ห้ามสังเกตอาการหรือรอดูว่าอาการหายดีหรือไม่ โดยโทร 1669 หรือห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้เคียงให้เร็วที่สุด”

4. ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต

โรคอัมพาตใครก็ไม่อยากเป็น เพราะเป็นแล้วมีโอกาสพิการได้สูง ในอดีตเป็นที่ทราบกันดีว่าใครเป็นอัมพาตก็มีโอกาสหายได้น้อยมาก แต่ในปัจจุบันการรักษาโรคอัมพาตมีแนวทางการรักษาที่ดี ผู้ป่วยมีโอกาสหายได้สูง

เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ว่า ถ้าตนเองหรือคนที่รู้จักเป็นอัมพาตต้องทำสิ่ง ต่อไปนี้

ก. ต้องมีความรู้ว่าโรคอัมพาตมีอาการอะไรบ้าง อาการที่พบบ่อย คือ ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง พูดลำบาก พูดไม่ชัด โดยมีอาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ข. เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในข้อ 1 อย่างใดอย่างหนึ่งให้รีบมาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้านทันทีหรือโทร 1669 หรือโทรศัพท์ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้านให้รถโรงพยาบาลรีบมารับไปโรงพยาบาล

กรณีทราบว่าโรงพยาบาลใดสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ และผู้ป่วยรู้สึกตัวดีก็ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดโดยตรงก็ได้

ค. เมื่อถึงโรงพยาบาลให้บอกพยาบาลที่จุดคัดกรองผู้ป่วยว่ามีอาการโรคอัมพาตอะไรบ้าง เริ่มเป็นเวลากี่โมง เรื่องเวลานี้มีความสำคัญมากต้องจำให้แม่น เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการวางแผนการรักษาของแพทย์

ง. ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลการเจ็บป่วย การใช้ยาประจำ โรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุ ปัสสาวะเป็นเลือด ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด และอื่นๆ ตามที่แพทย์หรือพยาบาลสอบถาม

จ. เตรียมปรึกษาญาติพี่น้องว่าถ้าผลการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด จะรับยาละลายลิ่มเลือดต่อหรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาถ้าแพทย์มาถามว่าจะให้การรักษาอย่างไรจะได้ตัดสินใจบอกแพทย์ได้ทันที เพราะยิ่งเร็วที่สุดเท่าไรก็ยิ่งมีผลต่อสมองมีโอกาสหายมากขึ้น

ฉ. ตั้งใจฟังคำอธิบายของแพทย์บอกเกี่ยวกับข้อดีของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด และข้อเสียของการรับยาละลายลิ่มเลือด ตัดสินใจวิธีการรักษา

ช. เมื่อเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พยายามทำใจให้สบายมากที่สุด เพื่อให้สัญญาณชีพปกติ จะส่งผลดีต่อการรักษา

ซ. หมั่นทำกายภาพบำบัด พยายามเคลื่อนไหวร่างกายตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ โดยสรุปถ้ามีอาการสงสัยว่าตนเองเป็นอัมพาต สิ่งแรกที่ควรทำ คือ หาวิธีที่จะมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด จำไว้ว่า “ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต”