อัมพาต 360 องศา: ตอน ทำไมต้องส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลให้ยาละลายลิ่มเลือดทันที

อัมพาต  360 องศา

การเจ็บป่วยใด ๆ ก็ตามทางการแพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเสมอ เพื่อความสะดวกในการรักษาและความต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง ประกอบกับความสามารถในการรักษาโรคต่างๆ ในทุกสถานพยาบาลของประเทศไทยตอนนี้เป็นไปตามมาตรฐานและมีแนวทางการรักษาที่ดีเท่าเทียมกัน แต่โรคอัมพาตทำไมต้องรีบส่งต่อ หรือแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สามารถให้การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดได้

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจว่าการที่ร่างกายมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่สงสัยว่าเป็นอาการของโรคอัมพาตนั้นอาจใช่หรือไม่ใช่อาการของโรคอัมพาตก็ได้ ดังนั้นการตรวจพิสูจน์เพื่อให้การยืนยันว่าเป็นโรคอัมพาตหรือไม่ คือ ต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ซึ่งจะให้ผลการตรวจที่แม่นยำ เมื่อได้รับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเรียบร้อยแล้ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าเป็นโรคอัมพาตหรือไม่ เป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันหรือเลือดออกในสมอง เพื่อที่แพทย์จะได้รีบให้การรักษาที่เหมาะสมในแต่ละโรคต่อไป

ซึ่งการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองนั้นต้องตรวจในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ เป็นต้น ที่สำคัญอีกเหตุผลหนึ่ง คือ เมื่อตรวจแล้วพบว่าเป็นภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันการรักษาที่ดีที่สุด คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งก็จะต้องให้การรักษาได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มีอายุรแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดดังกล่าว และต้องรีบให้การรักษาให้เร็วที่สุด

ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น จึงแนะนำว่าถ้าใครก็ตามที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท สงสัยว่าตนเองจะมีอาการของโรคอัมพาต จึงแนะนำให้รีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สามารถให้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองได้ และสามารถให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่รุนแรง การเดินทางไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทันทีอาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้ระหว่างเดินทาง ก็แนะนำให้รีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุดทันที ถ้าแพทย์ให้การตรวจรักษาเบื้องต้นแล้วสงสัยว่าเป็นโรคอัมพาต ก็จะมีการประสานงานอย่างเป็นระบบไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อให้การตรวจรักษาที่เหมาะสมตามมาตรฐานการรักษาต่อไป

ดังนั้นผมแนะนำให้ทุกครัวเรือนควรศึกษาหาข้อมูลว่าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านเรามากที่สุดนั้น สามารถให้การรักษาโรคอัมพาตเฉียบพลันได้หรือไม่ มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือไม่ มีระบบการให้บริการรักษาโรคอัมพาตที่ครบวงจรหรือไม่ เพื่อเวลาที่มีใครไม่สบายจะได้ตัดสินใจเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ถูกต้อง รวดเร็วที่สุด รวมทั้งควรมีหมายเลขโทรศัพท์โรงพยาบาลเพื่อความรวดเร็วในการประสานงานด้วยครับ

“จงเตรียมความพร้อมไว้เสมอ เหมือนกับการซ้อมอัคคีภัย ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดและโอกาสเกิดก็น้อยมาก แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็คุ้มค่าในการเตรียมความพร้อมครับ”