อัมพาต 360 องศา: ตอน เมื่อมีอาการผิดปกติ มาโรงพยาบาลตอนไหนดี

อัมพาต  360 องศา

ผมออกตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทั้งช่วงเช้า ช่วงบ่ายและนอกเวลาราชการ ผมสังเกตพบว่าผู้ป่วยที่มาตรวจรักษากับผมในแต่ละช่วงเวลานั้นมีความแตกต่างกัน คือ ผู้ป่วยที่มีที่อยู่ต่างจังหวัด ต้องเดินทางมาไกลมักจะพบผมตอนเช้า เพื่อที่จะได้เดินทางกลับถึงบ้านไม่มืดค่ำ ส่วนผู้ป่วยที่บ้านอยู่ใกล้ๆ ก็มักจะขอตรวจช่วงบ่ายๆ ถ้าเป็นข้าราชการ โดยเฉพาะคุณครูจะขอตรวจช่วงนอกเวลาราชการ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลาราชการ สามารถทำงานได้ตามปกติและมาพบแพทย์ช่วงค่ำ ซึ่งก็เป็นไปตามความสะดวก แต่ถ้าเป็นโรคอัมพาตจะมาตรวจช่วงไหนดี

ผมมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการมาพบแพทย์ คือ จะรอพบแพทย์เฉพาะทางโดยตรง ทำให้เสียโอกาสในการรับการรักษาที่รวดเร็วไม่ทัน 270 นาทีชีวิต สิ่งที่ถูกต้องคือผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และต้องมาที่ห้องตรวจแผนกฉุกเฉิน ไม่ใช่มาที่ห้องตรวจแผนกผู้ป่วยนอก

ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคอัมพาต คือ มีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด นึกคำพูดลำบาก แขน ขาอ่อนแรง ที่มีอาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าวต้องรีบมาพบแพทย์ทันที ผมเองมักจะพูดกับผู้ป่วยที่ติดตามการรักษากับผมทุกคนว่าถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบมาพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องคิดว่าจะมาพบแพทย์เมื่อไหร่ ให้เวลาคิดเพียง 5 นาทีว่าจะมาพบแพทย์ด้วยวิธีใด จะโทรศัพท์บอกลูกหลานให้มารับ เพื่อนำส่งโรงพยาบาล หรือจะโทรศัพท์ไปยังแผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์ 1669 เพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินมารับตัวไปโรงพยาบาล

การที่เราต้องมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดก็เพื่อรีบตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อให้ได้การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องแน่นอนว่าเป็นโรคอัมพาตชนิดไหน ต้องให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไปอย่างไร

โปรดจำไว้ว่า “ ทุกนาที คือ ชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต” ดังนั้นถ้ามีอาการผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใด ให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอเวลาใดๆ และต้องรีบไปที่แผนกฉุกเฉินนะครับ