อัมพาต 360 องศา: ตอน ยารักษาอัมพาตต้องทานยานานเท่าใด

อัมพาต  360 องศา

โรคอัมพาตเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ผู้ที่อ้วน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย การรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคอัมพาต แต่ถ้าเกิดอาการของโรคอัมพาตก็ต้องเข้าสู่การรักษาทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง หรือ 270 นาทีชีวิต เพราะถ้าเป็นสมองขาดเลือดเฉียบพลันการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดก็มีโอกาสหายเกือบครึ่งต่อครึ่ง เมื่อหายแล้วยังต้องมาพบหมอรักษาต่อเนื่องหรือไม่ คำถามนี้สำคัญาก เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าใจไม่ถูกต้อง เราต้องมาติดตามกันครับว่าต้องรักษาโรคอัมพาตนานเท่าไหร่

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าการรักษาโรคอัมพาตประกอบด้วยหลายส่วนดังนี้ คือ

  1. การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค คือ การรักษาที่ดีที่สุด โดยการรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งการป้องกันนี้ก็ต้องทำตลอดไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ปราศจากโรคหรือมีโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายให้น้อยที่สุด
  2. การรักษาโรคอัมพาตในระยะเฉียบพลัน โดยการเข้าสู่ระบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจให้ชัดเจนว่าโรคอัมพาตนั้นเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันหรือเลือดออกในสมอง ถ้าเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันก็ต้องให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด มีโอกาสหายดีร้อยละ 50
  3. กรณีที่ยังมีภาวะแขนขาอ่อนแรง หรือมีความผิดปกติทางระบประสาทอื่นๆ หลงเหลืออยู่การรักษาที่จำเป็นคือ การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้ดีขึ้น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะข้อยึดติด การสำลักอาหาร น้ำลาย เกิดแผลกดทับ เป็นต้น
  4. การทานยารักษาโรคประจำตัวที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอัมพาต ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันหิตสูง ไขมันสูง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หัวใจขาดเลือด หรือลิ้นหัวใจตีบ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆที่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอัมพาตได้
  5. การทานยาและพบแพทย์เพื่อรักษาโรคอัมพาตอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคอัมพาตมีกลไกการเกิดจากการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงสมอง ทำให้มีการตีบแคบของหลอดเลือดแดงสมอง เมื่อมีการตีบแคบมากขึ้นๆ ก็ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้สมองขาดเลือดเกิดอาการของโรคอัมพาต ด้วยเหตุผลนี้เองที่ผู้ป่วยอัมพาตต้องพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง ลดโอกาสการเกิดอัมพาตซ้ำ

จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ติดตามการรักษา ทานยาอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมก็จะลดการเป็นซ้ำได้อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม

“ดังนั้นการรักษาโรคอัมพาต ต้องรับการรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต”