อัมพาต 360 องศา: ตอน ไม่อยากให้เกิดอัมพาตกับพ่อหนู

อัมพาต  360 องศา

เช้าวันหนึ่งผมได้ไปเดินดูผู้ป่วยโรคอัมพาตที่หอผู้ป่วยตามปกติเหมือนทุกๆ วัน แล้วก็มาถึงเตียงที่ 14 เป็นผู้ป่วยชายสูงอายุ 80 ปี ป่วยเป็นโรคอัมพาตมานอนรักษาเมื่อวาน โดยมีลูกสาวนำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่ทันช่วง 270 นาทีชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยอยู่บ้านคนเดียว ลูกสาวกลับมาการทำงานแล้วพบว่าพ่อไม่สามารถเดินได้ พูดไม่ชัดจึงรีบพาส่งโรงพยาบาลประมาณ 5 ทุ่ม ผมได้ตรวจผู้ป่วยพบว่าอาการค่อนข้างรุนแรง และประเมินแล้วว่าคงต้องมีผู้ดูแลระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยคงอยู่ในสภาพติดเตียงแน่ ๆ จึงบอกให้ทางพยาบาลเชิญญาติผู้ป่วยมาพูดคุยเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการหาผู้ดูแลระยะยาวที่บ้าน

ทางพยาบาลได้แจ้งผมในวันต่อมาว่า ทางญาติไม่สามารถมาพูดคุยได้ครับ เพราะติดงานไม่สามารถลางานได้ ทำให้ผมเกิดความสงสัยว่าผู้ป่วยมีญาติเป็นลูกสาวคนเดียวเหรอ ไม่มีใครอีกเลยเหรอ แล้วลูกสาวทำงานอะไร จึงไม่สามารถลางานได้ และไม่สามารถมาเยี่ยมได้ด้วย คำตอบที่ได้คือ ผู้ป่วยมีลูกสาวคนเดียว ภรรยาเสียชีวิตไปแล้วประมาร 1 ปี ที่ผ่านมา ผู้ป่วยอยู่กับลูกสาวเพียงคนเดียว และลูกสาวทำงานเป็นพนักงานห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองขอนแก่น โดยทำงานเป็นรายวันจึงไม่สามารถลางานได้ และที่สำคัญก็คือไม่สามารถดูแลคุณพ่อระยะยาวได้แน่ๆ ถ้าต้องรับผู้ป่วยกลับบ้านก็ไม่สามารถไปทำงานได้ หมายถึงก็ตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่สามารถดูแลตนเองและพ่อตนเองได้

ผมถึงกับเศร้าใจไม่รู้จะทำอย่างไร ในสมองขณะนั้นมีความสับสนและเศร้าใจปะปนกัน ทำไมสังคมถึงโหดร้าย ผู้ป่วยและลูกสาวถึงโชคร้ายอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่นี้ก็คือความจริง ความจริงในสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมครอบครัวขนาดเล็ก ญาติพี่น้องแทบไม่ได้ติดต่อกัน เวลาเจ็บป่วยไม่มีใครดูแล จึงได้พยายามประสานงานกับแผนกสังคมสงเคราะห์ให้ช่วยประเมินความพร้อมและปัญหาต่างๆ ที่ต้องแก้ไข ว่าจะมีวิธีไหนที่ช่วยได้บ้าง

สุดท้ายก็พบว่าไม่สามารถแก้ไขได้เลย เพราะครอบครัวนี้มีเพียงพ่อ คือ ผู้ป่วยและลูกสาวเท่านั้น เนื่องจากญาติสนิทก็ไม่มี ทั้งฝ่ายผู้ป่วยและภรรยาผู้ป่วยก็มีปัญหาด้านฐานะเช่นเดียวกัน ไม่สามารถหาใครมาช่วยเหลือได้เลย ทางสังคมสงเคราะห์จังหวัดก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ทั้งหมด และก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ สุดท้ายผมได้มีโอกาสคุยกับลูกสาวผู้ป่วยในช่วงกลางดึกหลังจากลูกสาวเลิกจากงานประมาณ 4 ทุ่ม เพราะต้องเข้างานประมาณ 9.30 น. ช่วงเช้าและกว่าจะเลิกงานก็ประมาณ 4 ทุ่ม จึงได้พูดคุยกันโดยตรง ก็พบว่าลูกสาวของผู้ป่วยทำงานรายวัน มีรายได้วันละประมาณ 350 บาท มีหนี้สินที่เกิดจากการดูแลคุณแม่ที่ไม่สบายและเพิ่งเสียชีวิตไปได้ 1 ปี ประมาณ 10,000 บาท ซึ่งต้องส่งเงินเพื่อลดหนี้ตรงนี้เดือนละ 500 บาท ซึ่งก็แทบจะไม่พอเพียงอยู่แล้ว เนื่องจากพ่อก็ไม่สบาย

จากการพูดคุย ลูกสาวของผู้ป่วยบอกว่า “หนูไม่สามารถรับคุณพ่อกลับบ้านได้เลยครับ หนูร้องไห้ทุกวัน เพราะรู้สึกผิดมากๆ ที่ไม่สามารถดูแลคุณพ่อได้เลย แต่หนูก็ไม่รู้จะทำอย่างไรค่ะ” แล้วก็ร้องไห้ต่อ ผมจึงบอกกับน้องเขาไปว่า “ น้องครับ ผมเข้าใจ ชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้จริงๆ แล้วน้องก็ไม่ได้มีความผิดอะไร น้องดูแลคุณพ่อ คุณแม่เป็นอย่างดีแล้ว สุดความสามารถของน้องแล้ว น้องทำดีที่สุดแล้ว” เพื่อเป็นการให้กำลังใจลูกสาวผู้ป่วยและลดความกังวล ลดความรู้สึกผิดลงไปได้บ้าง แล้วก็แนะนำว่า ถ้าอย่างงั้นถ้าคุณพ่อหนูเป็นอะไรที่รุนแรงขึ้นเราคงเลือกใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองนะครับ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความทรมานในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งลูกสาวก็เข้าใจ

สุดท้ายผู้ป่วยอยู่รักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 2 สัปดาห์อาการก็ทรุดลง มีภาวะติดเชื้อในปอด หายใจไม่ได้ และใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองในระยะสุดท้าย โดยทำให้ผู้ป่วยสงบ ไม่มีความเจ็บปวด และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งในวันที่ลูกสาวมารับคุณพ่อกลับบ้านนั้น ผมรู้สึกเศร้าใจสุดๆ และผมยังจำเหตุการณ์นี้ไปตลอด และนำมาสอนนักเรียนแพทย์ แพทย์ประจำบ้านเสมอ เพื่อให้เข้าใจถึงความจริงในแต่ละครอบครัว ซึ่งมีสภาพความพร้อมของแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน ดังนั้นการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละคนนั้นย่อมมีความเหมาะสมแตกต่างกันในแต่ละราย การรักษาที่ดีนั้นต้องมองให้รอบ ให้ครบทุกมิติ ต้องให้ครอบครัวของผู้ป่วยทุกรายเป็นคนตัดสินใจ การรักษาของแพทย์ที่คิดว่าทำดีที่สุดแล้วนั้น อาจจะไม่เหมาะกับผู้ป่วยและครอบครัวทุกราย

ความจริงในสังคม ในชีวิตจริงนั้นเป็นสิ่งที่แพทย์เราต้องทราบและคนเรานั้นก็ไม่สามารถเลือกได้ เหมือนกรณีนี้ ที่น้องผู้หญิง “ไม่อยากให้คุณพ่อเป็นอัมพาต”