อัมพฤกษ์อัมพาต (ตอนที่ 2)

อัมพฤกษ์อัมพาต

มีศัพท์ทางการแพทย์หลายคำที่ใช้เรียกอัมพาตชนิดต่างๆ กันไป เช่น

  • Monoplegia หมายถึง อัมพาตขาหรือแขนข้างเดียว
  • Hemiplegia หมายถึง อัมพาตครึ่งซีก
  • Paraplegia หมายถึง อัมพาตของร่างกายส่วนล่าง
  • Tetraplegia หรือ quadriplegia หมายถึง อัมพาตแขนขาสองข้าง

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอัมพาต ได้แก่

  • โรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) - เมื่อไม่มีเลือดไหลไปเลี้ยงสมอง เซลล์สมองจะเริ่มตาย สมองถูกทำลายและเป็นผลให้เกิดอัมพาต
  • การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head injury) - สมองถูกกระทบกระเทือน ทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทถูกทำลาย โดยเฉพาะสมองที่ควบคุมกล้ามเนื้อ หากกระทบสมองด้านขวา อัมพาตจะเกิดที่ร่างกายซีกซ้าย ในทางกลับกันหากกระทบสมองด้านซ้าย อัมพาตจะเกิดที่ร่างกายซีกขวา
  • การได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง (Spinal cord injury) - เพราะไขสันหลังเป็นที่รวมของเส้นประสาทจากสมองเพื่อส่งสัญญาณไปตามร่างกาย ดังนั้นหากไขสันหลังได้รับการกระทบกระเทือนก็ไม่อาจทำหน้าที่ส่งสัญญาณได้ เป็นสาเหตุให้เกิดอัมพาต และหากเป็นในตำแหน่งไขสันหลังส่วนบนมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นอัมพาตมากเท่านั้น
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) - เกิดเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถแยกแยะได้ถูกต้องระหว่างเซลล์ร่างกายกับสิ่งแปลกปลอม ทำให้แทนที่ภูมิต้านทานจะทำลายเชื้อโรคเพียงอย่างเดียว กลับไปทำลายปลอกหุ้มเส้นประสาทด้วย ทำให้กระทบต่อการส่งสัญญาณประสาทของสมอง

อนึ่ง ไขสันหลังประกอบด้วยกระดูกสันหลัง (Vertebrae) 24 ชิ้น คือ

  • กระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical vertebrae) 7 ชิ้น เรียกว่า C1 - C7
  • กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic vertebrae) 12 ชิ้น เรียกว่า T1 - T12
  • กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar vertebrae) 5 ชิ้น เรียกว่า L1 - L5

โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแต่ละบริเวณ จะมีผลแตกต่างกัน ดังนี้

  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณ C1 – C4 มักจะเคลื่อนไหวแขนขาได้น้อยหรือไม่ได้เลย อาจสามารถเคลื่อนไหวได้เพียงแค่คอและไหล่เพียงเล็กน้อย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณ C7 อาจจะรู้สึกได้ถึงข้อศอกหรือการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณ T2 - T12 จะมีความรู้สึกในร่างกายส่วนบน แต่จะไม่มีความรู้สึกหรือมีความรู้สึกเพียงเล็กน้อยในร่างกายส่วนล่าง ต้องอาศัยรถเข็น (Wheelchair)
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณ L1 - L5 จะสามารถเคลื่อนร่างกายส่วนล่าง เช่น สะโพก เข่า และขา ได้เล็กน้อย แต่ก็ต้องอาศัยรถเข็นหรืออุปกรณ์ช่วยเคลื่อนไหว (Mobility aid) เช่น โครงเหล็กช่วยเดิน (Walking frame) เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

1. Paralysis. http://www.nhs.uk/Conditions/paralysis/Pages/Introduction.aspx[2016, April 29].

2. Signs and symptoms of paralysis. http://www.brainandspinalcord.org/spinal-cord-injuries/signs-and-symptoms-paralysis.html [2016, April 29].