อัมพฤกษ์อัมพาต (ตอนที่ 1)

อัมพฤกษ์อัมพาต

นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษได้ทำการศึกษาชาวจีนที่เป็นผู้ใหญ่ 5 แสนราย มานาน 7 ปี พบว่า ชาวจีนที่กินผลไม้สดเกือบทุกวันแทบจะไม่ต้องกลัวโรคหัวใจวายและอัมพฤกษ์อัมพาตเลย แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้เทียบกันแล้ว จะรับประทานผลไม้สดน้อยกว่าชาวอังกฤษหรือชาวอเมริกันก็ตาม

ทั้งนี้เพราะผลไม้เป็นแหล่งอุดมของโพแทสเซียมกากใยอาหารและสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และสารประกอบที่เป็นคุณอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีโซเดียมหรือไขมันต่ำด้วย

นักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า การบริโภคผลไม้มีคุณประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดจากการศึกษาครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ชาวจีนบริโภคผลไม้น้อยกว่ากัน แต่ที่จะแตกต่างกันก็คือ คนจีนโดยมากจะกินผลไม้กันสดๆ ในขณะที่ชาวตะวันตกจะกินผลไม้ทั้งสดและทั้งที่แปรรูป

อัมพาต (Paralysis) เป็นอาการที่กล้ามเนื้อไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อโดยตรงแต่มีสาเหตุจากเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อถูกทำลาย

อัมพาตสามารถแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

  • แบบเฉพาะที่ (Localised) – มีเพียงบางส่วนของอวัยวะที่เป็นอัมพาต เช่น ใบหน้า หรือ มือ
  • แบบทั่วไป (Generalised) – เป็นบริเวณที่กว้าง

อัมพาตสามารถเป็นได้ชั่วคราวหรือถาวร โดย

  • อย่างชั่วคราว (Temporary) เช่น โรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคใบหน้าเบี้ยว หรือ โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's palsy)
  • อย่างถาวร (Permanent) เช่น อัมพาตที่เกิดจากอุบัติเหตุร้ายแรงที่บริเวณคอ

อัมพาตสามารถเป็น

  • แบบบางส่วน (Partial) – กล้ามเนื้อและความรู้สึกบางส่วนยังมีอยู่ เช่น เคลื่นไหวขาได้ข้างหนึ่งหรือมีความรู้สึกถึงความร้อนและความเย็นได้
  • แบบทั้งหมด (Complete) – ไม่สามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและหมดความรู้สึกบริเวณที่เป็น

อัมพาตสามารถแบ่งเป็น

  • แบบหดเกร็ง (Spastic) – กล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นจะเกร็ง
  • แบบอ่อนปวกเปียก (Flaccid) - กล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นอาจเหี่ยวย่น

แหล่งข้อมูล

1. กินผลไม้สดทุกวัน ห่างไกลอัมพฤกษ์อัมพาต. http://www.thairath.co.th/content/605386[2016, April 28].

2. Paralysis. http://www.nhs.uk/Conditions/paralysis/Pages/Introduction.aspx[2016, April 28].