อันตรายจากขนมควันทะลัก (ตอนที่ 1)

อันตรายจากขนมควันทะลัก

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึง กรณีการส่งคลิปเวียนการรับประทาน “ขนมควันทะลัก” ในสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ปัจจุบันมีกระแสความนิยมในการนำไนโตรเจนเหลวไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหาร เพื่อให้เกิดควันพวยพุ่งออกมา ซึ่งเป็นการปลุกกระแสสร้างความแปลกใหม่ ดึงดูดลูกค้าให้ซื้อสินค้าไปรับประทาน

นพ.วันชัย กล่าวว่า ไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นและไม่มีรส มีประโยชน์ในการแช่แข็งอาหาร และเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องใช้ความเย็นจัด โดยทั่วไปการนำไนโตรเจนมาใช้กับอาหาร เพื่อลดอุณหภูมิของอาหารให้มีอุณหภูมิต่ำลงอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่จุดเยือกแข็ง

โดยไนโตรเจนเหลวที่ใช้จะต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ.2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร และ ปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ.2559 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ฉบับที่ 4

หากใช้ในปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ หากตรวจพบว่ามีการใช้ไนโตรเจนเหลวในปริมาณมากจนเกินเหตุ และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า สำหรับผู้บริโภค การรับประทานอาหารที่ผสมไนโตรเจนเหลว ให้หลีกเลี่ยงการกิน สัมผัส หรือสูดดมโดยตรง เพราะเสี่ยงได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง

เนื่องจากไนโตรเจนเหลวมีอุณหภูมิที่ต่ำมาก เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ ไนโตรเจนเหลวจะดูดซับความร้อนจากผิวหนัง เพื่อการระเหยอย่างรวดเร็ว และทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย คล้ายกับผิวหนังที่ถูกเผาไหม้ เหมือนนำไปสัมผัสกับกระทะร้อนๆ หรือหากสูดดมก๊าซไนโตรเจนที่เกิดขึ้นโดยตรงอาจทำให้หมดสติได้ ต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยออกไปให้หมดก่อน จึงจะรับประทานได้

ไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) เป็นก๊าซไนโตรเจนที่อยู่ในสภาพของของเหลวที่มีอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ (Cryogenic fluid) ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เมื่อมีการเก็บรักษาในภาชนะสุญญากาศ (Vacuum flasks) จะสามารถอยู่ได้นานหลายชั่วโมงถึงหลายสัปดาห์ และไนโตรเจนเหลวมีอัตราส่วนการกระจายที่มากเมื่อมีการระเหย โดยไนโตรเจนเหลว 1 ลิตร สามารถทำให้เกิดก๊าซได้ประมาณ 700 ลิตร

การทำไนโตรเจนเหลว ใช้วิธีเตรียมจากอากาศ (อากาศมีก๊าซไนโตรเจนประมาณร้อยละ 79 และก๊าซออกซิเจนประมาณร้อยละ 20 โดยปริมาตร) มาผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสถานะจากของแข็งหรือก๊าซเป็นของเหลว (Liquefaction) โดยการเพิ่มความดันและลดอุณหภูมิ จากนั้นจึงแยกออกซิเจนออก จะได้ไนโตรเจนเหลว นอกจากนี้เรายังสามารถได้ไนโตรเจนเหลวจากผลพลอยได้ (Byproduct) ของการผลิตออกซิเจนเหลวที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเหล็ก เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

1. “ขนมควันทะลัก”เสี่ยงสัมผัส“ไนโตรเจนเหลว”. http://www.thaihealth.or.th/Content/36217-“ขนมควันทะลัก”เสี่ยงสัมผัส“ไนโตรเจนเหลว”.html [2017, April 29].

2. Liquid nitrogen. https://en.wikipedia.org/wiki/Liquid_nitrogen [2017, April 29].

3. Who What Why: How dangerous is liquid nitrogen? http://www.bbc.com/news/magazine-19870668 [2017, April 29].