อัจฉริยบุคคล จำนนมะเร็งตับอ่อน

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple ซึ่งได้สร้างธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ด้วยผลิตภัณฑ์ iMac, iPod, iPhone และ iPad ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อวานนี้ (6 ตุลาคม 2554) ในขณะที่มีอายุ 56 ปี หลังจากที่ได้ต่อสู้กับมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) ชนิด Neuroendocrine หรือ อีกชื่อคือ Islet cell carcinoma ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อยมากๆ (Rare Case) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 แต่ 9 เดือน หลังจากที่ได้รับการตรวจวิเคราะห์แล้ว Steve Jobs ก็เข้ารับการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกออก

ใน ปี พ.ศ.2552 เขาเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplant) หลังจากพบโรคแพร่กระจายเข้าสู่ตับ ซึ่งเป็นการรักษาที่แพทย์เชื่อว่าเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ หลังจากนั้น เขากลับมาทำงานตามปกติ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554 Steve Jobs ก็ลาออกกะทันหัน จากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)ของ Apple โดยให้เหตุผลว่า เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ CEO ได้อีกต่อไป แต่เป็นที่คาดเดากันในเวลานั้นว่า มะเร็งตับอ่อน คงหวนกลับคืนมา

ถ้า Steve Jobs ได้รับความทุกข์ทรมานจากมะเร็งตับอ่อน ชนิดที่พบบ่อยกว่าชนิดนี้ (พบได้ 95% ของมะเร็งตับอ่อนทั้งหมด) คือ ชนิด Adenocarcinoma ซึ่งเกิดกับเซลล์ตับอ่อนชนิดมาจากต่อมมีท่อ หรือ ต่อมขับออก (Exocrine) โอกาสที่เขาอาจตายในเวลาอันสั้นจะมีสูงมากกว่านี้ เพราะเป็นชนิดที่รุนแรงกว่า อย่างไรก็ตามอาการปวดท้อง และอาการ ดีซ่าน (ตัวและตาเหลือง) ซึ่งเป็นอาการพบบ่อยของมะเร็งตับอ่อน ที่นำไปสู่การวินิจฉัยโรค ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด และชนิดของเนื้องอก

มะเร็งตับอ่อน เป็นสาเหตุการตายด้วยมะเร็งเป็นอันดับ 4 ของโลก การพยากรณ์โรค มักทำได้ยาก สำหรับมะเร็งทุกระยะรวมกัน อัตราการรอดตายที่ 1 ปี และที่ 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 25% และที่ 6% ตามลำดับ

สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) แถลงว่า ยังไม่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ สำหรับป้องกันมะเร็งตับอ่อน แม้ว่าการศึกษาวิจัยพบว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยง ก่อให้เกิดมะเร็งตับอ่อนถึง 20–30% ดังนั้น สมาคมนี้ จึงแนะนำให้เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ และให้รักษาน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม รับประทานผลไม้ ผัก และธัญพืชให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ลดการรับประทานเนื้อแดง เพราะอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ แม้ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่สนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวก็ตาม

การกินวิตามิน ดี มากเกินไปก็อาจเป็นอันตราย ในขณะเดียวกันการรับประทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ โรคอ้วน และการขาดการออกกำลังกาย ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงได้ กลุ่มวิตามิน บี อาทิ บี12 และ บี6 อาจลดภัยจากมะเร็งตับอ่อนได้ เมื่อบริโภคในรูปอาหาร แต่ไม่ใข่กรณีที่บริโภคในรูปแบบของการกินวิตามินเสริมอาหาร (Tablet)

ผู้ที่ล่อแหลมต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อน อาจเนื่องจากเคยมีประวัติในครอบครัว แต่ยังไม่เป็นที่สรุปกันว่า อะไรคือ วิธีการเฝ้าติดตามการเกิดโรคที่เหมาะสม นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงยังรวมถึง อายุ กล่าวคือ โอกาสสูงขึ้นสำหรับมะเร็งตับอ่อน ในผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ในขณะที่โอกาสต่ำสำหรับผู้มีอายุน้อยกว่า 40 ปี

การสูบบุหรี่มีอัตราความเสี่ยง 1.74 เท่าของการเป็นมะเร็งตับอ่อน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ 10 ปีหลังจากเลิกสูบบุหรี่จัด จะลดอัตราความเสี่ยงลงเหลือเพียง 1.2 เท่าของอัตราปกติ

อาหารประเภทผักและผลไม้ อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งตับอ่อน ซึ่งตรงข้ามกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำอัดลม เป็นอัตราความเสี่ยงที่สูงถึง 1.87 เท่า รวมทั้ง โรคอ้วน

และโรคเบาหวาน ก็เป็นปัจจัยอันตรายต่อการเกิดมะเร็งตับอ่อนเช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. FAQ: Steve Jobs' Pancreatic Cancer. http://www.webmd.com/cancer/pancreatic-cancer/news/20110825/faq-steve-jobs-pancreatic-cancer
  2. Pancreatic cancer. http://en.wikipedia.org/wiki/Pancreatic_cancer [6 ตุลาคม 2011].