อะไรเอ่ย SSSS ? (ตอนที่ 2)

อะไรเอ่ยSSSS-2

      

      โรค 4S มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ซึ่งจะสร้างสารพิษแล้วปล่อยออกมา 2 ตัว คือ Epidermolytic toxins A และ B ทำให้ผิวเป็นตุ่มและหลุดลอก เหมือนกับการโดนน้ำร้อนลวก เป็นโรคที่พบยาก พบประมาณร้อยละ 0.056 ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี

      โดยร้อยละ 15-40 ของคนที่สุขภาพปกติจะเป็นพาหะของเชื้อ Staphylococcus aureus กล่าวคือ มีเชื้อนี้อยู่ที่ผิวหนัง แต่ไม่มีอาการติดเชื้อ

      เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่เปิด และยังสามารถเข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือด ทำให้เกิดปฏิกริยาต่อผิวหนังทั้งตัว และเนื่องจากเด็กทารกหรือเด็กเล็กยังมีไตและระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ในการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย จึงทำให้เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้

      นอกจากนี้ผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ได้แก่

  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรืออยู่ระหว่างการรักษาตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เคมีบำบัด กินยากดภูมิ
  • ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังหรือไตวาย

      โดยอาการเบื้องต้นของโรค 4S ที่แสดงถึงการติดเชื้อ ได้แก่

  • เป็นไข้
  • หงุดหงิด
  • อ่อนเพลีย
  • หนาวสั่น
  • เบื่ออาหาร
  • เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)

      และเมื่อมีสารพิษออกมา ก็อาจสังเกตได้ถึงลักษณะของ

  • ผิวแดง
  • ตุ่มพองแตกง่าย
  • ผิวหนังลอกเป็นแผ่น

      ในผู้ใหญ่จะเกิดอาการได้ทุกที่ แต่ในเด็กส่วนใหญ่จะมีอาการทางผิวหนังบริเวณปาก ตา และหู โดยทารกจะเริ่มเป็นบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมและบริเวณสะดือก่อน ในขณะที่เด็กโตจะเริ่มเป็นที่บริเวณใบหน้า ผื่นจะกระจายตัวอย่างรวดเร็วไปยังบริเวณรอบปากและข้อพับที่ขา แขน ขาหนีบ และคอ หนังกำพร้า (Epidermis) จะลอกเหมือนแผลโดนไฟลวก ผิวหนังจะหลุดอย่างง่ายดายเมื่อใช้นิ้วมือถูเบาๆ (Nikolsky sign)

แหล่งข้อมูล:

  1. Scalded Skin Syndrome. https://www.healthline.com/health/scalded-skin-syndrome [2018, December 4].
  2. Staphylococcal scalded skin syndrome. https://www.dermnetnz.org/topics/staphylococcal-scalded-skin-syndrome/ [2018, December 4].
  3. Staphylococcal Scalded Skin Syndrome (SSSS) in Children. https://www.hopkinsmedicine.org/healthlibrary/conditions/dermatology/staphylococcal_scalded_skin_syndrome_85,P00316 [2018, December 4].
  4. Staphylococcal Scalded Skin Syndrome. https://rarediseases.org/rare-diseases/staphylococcal-scalded-skin-syndrome/ [2018, December 4].