อะไรเอ่ย ! พลิกจนหลวม (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

อะไรเอ่ยพลิกจนหลวม

ข้อเท้าหลวมมักมีสาเหตุมาจากการที่ข้อเท้าแพลงแล้วไม่รักษาให้หายดี เพราะเมื่อข้อเท้าแพลง เอ็นยึดกระดูก (Ligaments) จะถูกยืดออกหรือฉีกขาด ดังนั้นจึงมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างกระดูก เอ็นยึด และกล้ามเนื้อที่ข้อเท้า ทำให้เกิดความไม่สมดุล

การฟื้นฟูข้อเท้าแพลงที่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีการทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเท้าแข็งแรงและรักษา (Retain) เนื้อเยื่อ (Tissues) ในข้อเท้าที่มีผลต่อความสมดุล

สิ่งที่ควรทำเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการข้อเท้าแพลงหรือเคล็ด ก็คือ

  • ควรพักเท้าที่บาดเจ็บเป็นเวลา 1-2 วัน
  • ให้ประคบเย็นเป็นเวลา 10-15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อลดอาการบวม
  • รัดด้วยผ้าพันยืด (Bandage / strapping) เพื่อให้อาการบวมน้อยลง
  • ยกเท้าให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวม

โดยหลังการพัก 1-2 วันแล้ว ควรลงน้ำหนักที่เท้า เริ่มออกกำลังกาย และยืดข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งโดยปกติข้อเท้าแพลงจะสามารถฟื้นฟูได้ภายใน 6-8 สัปดาห์ ทั้งนี้ ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง และหากเล่นกีฬา ควรทำการวอร์มก่อนและหลังการเล่นทุกครั้ง

ส่วนการรักษาข้อเท้าหลวมขึ้นกับผลการตรวจและระดับการทำกิจกรรมของผู้ป่วย การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด อาจทำได้โดย

  • กายภาพบำบัด (Physical therapy) เพื่อทำให้ข้อเท้าแข็งแรง เพิ่มความสมดุล การเคลื่อนไหว และรักษากล้ามเนื้อ
  • ใส่ที่รัดข้อเท้า (Bracing) เพื่อพยุงข้อเท้าและช่วยป้องกันข้อเท้าแพลง
  • ใช้ยา (Medications) นอนสเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs = NSAIDs) เช่น ยา Ibuprofen เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ

ในบางกรณีที่การรักษาไม่ได้ผล อาจต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อซ่อมหรือสร้างเอ็นยึดที่ถูกทำลายไป ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. Brostrum procedure เป็นวิธีที่ทำให้เอ็นตึงและติดกับกระดูก วิธีนี้เหมาะกับอาการบาดเจ็บที่ไม่ร้ายแรง ข้อดีก็คือ วิธีนี้เกิดอาการเมื่อย (Stiffness) น้อยกว่าวิธีอื่น
  2. การนำเอาเนื้อเยื้อ (Tissue) จากเอ็นกล้ามเนื้อ (Tendons) บริเวณใกล้เคียงมาปะระหว่างกระดูกและเอ็นยึดกระดูก (Ligaments) วิธีนี้เหมาะกับอาการบาดเจ็บที่ร้ายแรง แต่มักทำให้เกิดอาการเมื่อยข้อเท้าภายหลัง

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คนที่ทำการออกกำลังกายฟื้นฟู (Rehabilitation exercises) 2-3 สัปดาห์หลังการผ่าตัดจะฟื้นตัวได้ดีกว่าคนที่ออกกำลังกายฟื้นฟูหลังการผ่าตัด 6 สัปดาห์

แหล่งข้อมูล

  1. Ankle Instability. http://www.bofas.org.uk/Patient-Information/Ankle-Instability [22015, August 12].
  2. Chronic Ankle Instability. http://www.foothealthfacts.org/footankleinfo/chronic-ankle-instability.htm [2015, August 12].
  3. Ankle sprains: What helps against chronic ankle instability? http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0072735/ [2015, August 12].