อะไรเอ่ย ! พลิกจนหลวม (ตอนที่ 1)

อะไรเอ่ยพลิกจนหลวม

นพ.กฤษฎิ์ พฤกษะวัน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ (เท้า-ข้อเท้า) กล่าวถึง คนที่ชื่นชอบกับการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือชอบใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน ๆ ว่า อาจจะทำให้ข้อเท้าพลิกได้ ซึ่งดูเหมือนเป็นอาการทั่วๆ ไป ที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่เป็นประจำ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยทิ้งไว้นานๆ แล้วอาจส่งผลให้เกิดข้อเท้าหลวมได้

นพ.กฤษฎิ์ กล่าวว่า สาเหตุอาการข้อเท้าหลวม โดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก ซึ่งอาจเป็นในลักษณะของข้อเท้าพลิกซ้ำบ่อยๆ หรือเกิดจากผลสืบเนื่องจากการรักษาที่ไม่เหมาะสมหลังจากข้อเท้าพลิก เช่น การทำกายภาพบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า หรือการบริหารระบบประสาทที่ป่วยในการทรงตัวของข้อเท้าไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เอ็นข้อเท้ายืด เกิดอาการข้อเท้าหลวมตามมา

สำหรับอาการที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการเดินแล้วรู้สึกว่า ข้อเท้าทรุดหรือพลิกง่าย รู้สึกข้อเท้าไม่มั่นคง บางครั้งเดินเท้าเปล่าบนพื้นทรายหรือพื้นเรียบ เช่น พรมไม่ได้ ซึ่งไม่ได้มีอาการข้อเท้าหลวมเพียงอย่างเดียว

หากพบว่ายังมีอาการปวดร่วมด้วย จะต้องคำนึงถึงสาเหตุการบาดเจ็บอื่นๆ ที่พบร่วมกันได้ อาทิ มีอาการเส้นเอ็นด้านนอกข้อเท้าฉีกขาด มีรอยแผลที่กระดูกอ่อนในข้อเท้า มีการได้รับบาดเจ็บของเส้นประสาทส่วนปลายเท้า กระดูกเท้าและข้อเท้าหัก เป็นต้น หากมีอาการมากขึ้นอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นนอกข้อเท้า ข้อเท้าเอียงผิดรูป และมีอาการข้อเท้าเสื่อมตามมาได้

ทั้งนี้หลักในการรักษาข้อเท้าหลวมนั้น จำเป็นต้องตระหนักว่า สาเหตุในการเกิดไม่ได้มีสาเหตุมาจากเอ็นข้อเท้ายืดหรือฉีกขาดเพียงอย่างเดียว มักพบว่ามีปัญหาเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวของข้อเท้า ความแข็งแรง และความยืดหยุ่นของเส้นนอกข้อเท้าร่วมด้วย ดังนั้นการรักษาที่จะทำให้ได้ผลดี ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังกล่าวให้ครบถ้วน

นพ.กฤษฎิ์ กล่าวถึง การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Treatment) ว่าได้แก่

  • การฝึกบริหารเพิ่มความแข็งแรงของเอ็นบริเวณรอบข้อเท้า
  • การฝึกการควบคุมการทรงตัวของข้อเท้า
  • การใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ที่รัดข้อเท้าทั้งแบบมีแกนด้านข้างและไม่มีแกนด้านข้าง
  • การใช้ยาเพื่อลดอาการอักเสบ

หากการรักษาดังกล่าวไม่ได้ผลในช่วง ระยะเวลา 3 - 6 เดือน จึงพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเข้าไปเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็นส่วนที่เป็นปัญหาดังกล่าว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การรักษาข้อเท้าหลวมที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดและรักษาอาการพลิกตั้งแต่เริ่มแรกได้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดปัญหาอาการข้อเท้าหลวมที่เกิดขึ้นได้

ข้อเท้าหลวม (Chronic ankle instability) เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นหลังข้อเท้าแพลง (Ankle sprains) บ่อยๆ โดยอาการข้อหลวม (Giving way) อาจเกิดขึ้นได้ในขณะเดิน ทำกิจกรรมต่างๆ หรือแม้แต่ขณะยืน ทั้งนี้ มีคนประมาณร้อยละ 10-20 ที่มีอาการข้อเท้าแพลงแล้วกลายเป็นข้อเท้าหลวม

แหล่งข้อมูล

  1. ข้อเท้าพลิกบ่อยๆ ระวังเป็นโรคเอ็นข้อเท้าหลวม. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000075584 [2015, August 11].
  2. Chronic Ankle Instability. http://www.foothealthfacts.org/footankleinfo/chronic-ankle-instability.htm [2015, August 11].
  3. Ankle sprains: What helps against chronic ankle instability? http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0072735/ [2015, August 11].