อะโปมอร์ฟีน (Apomorphine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

อะโปมอร์ฟีน (Apomorphine) คือ ยารักษาโรคพาร์กินสัน โดยเป็นยาในกลุ่ม Dopamine agonist มีการออกฤทธิ์ที่สมองในบริเวณตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อว่า D1-like และ D2-like receptors, โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาเม็ดอมใต้ลิ้นและยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

ในต้นศตวรรษที่ 20   ทางคลินิกเคยใช้ยานี้บำบัดรักษาอาการทางจิตของกลุ่มชายรักชาย (Psychiatic treatment of homosex uality)

ปัจจุบันที่พบเห็นจะใช้บำบัดอาการของโรคพาร์กินสันเป็นหลักโดยใช้ในลักษณะของยาฉีด, และยังใช้รักษาอาการสมรรถภาพทางเพศถดถอยในผู้ชาย(นกเขาไม่ขัน)โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาอมใต้ลิ้น

ยาอะโปมอร์ฟีน มีฤทธิ์กระตุ้นให้รู้สึกอยากอาเจียน แพทย์จึงมักจะจ่ายยาป้องกันการอาเจียนอย่างยา Domperidone ร่วมด้วย

บางกรณี แพทย์อาจใช้ยาอะโปมอร์ฟีนมาบำบัดอาการติดสาร/ยาเสพติด  เช่น เฮโรอีน(Heroin) และฝิ่น(Opium) รวมถึงรักษาอาการติดสุราเรื้อรังอีกด้วย

ยังมีข้อจำกัดบางประการของการใช้ยาอะโปมอร์ฟีนที่ผู้ป่วยควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาอะโปมอร์ฟีน
  • ห้ามใช้กับผู้ที่ไม่สามารถครองสติได้ หรืออยู่ในภาวะลมชัก หรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ห้ามใช้ ร่วมกับยาแก้คลื่นไส้อาเจียน กลุ่ม 5-HT3 antagonist เช่นยา Ondansetron, Dolasetron, Granisetron, Palonosetron และ Alosetron

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งยืนยันอาการป่วยหรือโรคประจำตัวต่างๆ รวมถึงมีประวัติแพ้ยา สถานภาพการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของมารดา,ให้แพทย์ทราบก่อนที่จะได้รับการรักษาทุกครั้ง, ด้วยยาอะโปมอร์ฟีนสามารถส่งผลกระทบและมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง)ต่อร่างกายผู้ป่วยได้อย่างมากมาย

อาจสรุปข้อมูลบางประการของยาอะโปมอร์ฟีนเพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม และถูกต้อง ในระหว่างที่มีการใช้ยาอะโปมอร์ฟีน เช่น

  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ผู้ป่วยบางรายอาจหลับโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จึงมีข้อแนะนำมิให้ผู้ที่ใช้ยานี้ขณะขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือทำงานกับเครื่องจักร เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุได้
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ต้องคอยตรวจสอบและควบคุมให้ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ผู้รักษา
  • *กรณีที่พบอาการแพ้ยานี้ ต้องรีบแจ้งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ยาอะโปมอร์ฟีน สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดที่เรียกว่า Melanoma (มะเร็งผิวไฝ), ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรสังเกตผิวหนังตนเอง หากพบไฝ ปาน ตุ่ม ก้อนเนื้อผิดปกติ ควรรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล/มาโรงพยาบาล
  • ยานี้อาจส่งผลกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ และอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดขณะหลั่งน้ำอสุจิ
  • *ยานี้อาจก่ออาการเจ็บหน้าอก หรือภาวะหัวใจล้มเหลว หากพบอาการหรือสัญญาณเตือน เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก, ควรต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ /มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ อาจได้รับผลข้างเคียงจากยาอะโปมอร์ฟีนมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • บริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉีดยานี้ อาจเกิดรอยเขียวช้ำ มีอาการปวด หรืออาการคัน เป็นรอยแดงเกิดขึ้นได้, อาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นหลังจากหยุดการใช้ยานี้

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ยาอะโปมอร์ฟีนชนิดฉีดเป็นยาควบคุมพิเศษ โดยต้องใช้วิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น หากฉีดเข้าหลอดเลือดจะก่อให้เกิดการอุดตันจาก ก้อนเลือด/ลิ่มเลือดในหลอดเลือดปอด  ดังนั้นการฉีดยานี้ ควรกระทำในสถานพยาบาลและใช้หัตถการทางการแพทย์อย่างถูกต้อง, หากจะนำยากลับมาฉีดที่บ้าน ญาติผู้ป่วยควรได้รับการฝึกหัดและทำความเข้าใจการใช้ยาอย่างถูกต้องจนมั่นใจเสียก่อนจากแพทย์/พยาบาล, รวมถึงห้ามปรับลดหรือเพิ่มขนาดการใช้ยานี้โดยมิได้รับคำแนะนำจากแพทย์

อะโปมอร์ฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

อะโปมอร์ฟีน

 

ยาอะโปมอร์ฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • บำบัดรักษาอาการโรคพาร์กินสันโดยใช้ในรูปแบบของยาฉีด(กล่าวถึงในบทความนี้)
  • บำบัดสมรรถนะทางเพศของบุรุษ (นกเขาไม่ขัน) โดยใช้เป็นยาเม็ดชนิดอมใต้ลิ้น (ไม่กล่าวถึงในบทความนี้)

อะโปมอร์ฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะโปมอร์ฟีน คือตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ประเภท Dopamine receptor ในสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของสารสื่อประสาทและเกิดฤทธิ์ของการรักษาอาการป่วยของโรคพาร์กินสัน คือ ทำให้ผู้ป่วยควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ

อนึ่ง: *บทความนี้ขอกล่าวถึงกลไกการออกฤทธิ์ของยาอะโปมอร์ฟีนเฉพาะที่ใช้เป็นยารักษาอาการโรคพาร์กินสันเท่านั้น

อะโปมอร์ฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะโปมอร์ฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:   

  • ยาฉีดขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดอมใต้ลิ้นขนาด 2 และ 3 มิลลิกรัม/เม็ด(ไม่กล่าวถึงในบทความนี้)

อะโปมอร์ฟีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ขอกล่าวถึงขนาดการบริหารยา/ใช้ยาอะโปมอร์ฟีนเฉพาะสำหรับรักษาอาการผู้ป่วยพาร์กินสันเท่านั้น คือ ยาฉีด:  เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นฉีดยา 2 มิลลิกรัมเข้าใต้ผิวหนัง วันละ 3 ครั้ง, แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาทุก 1 มิลลิกรัมในวันถัดไปจนถึงขนาด 6 มิลลิกรัมต่อการฉีด 1 ครั้ง, ขนาดการฉีดยาสูงสุดต่อครั้งไม่ควรเกิน 6 มิลลิกรัม, และขนาดการฉีดยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้กับเด็กยังถือเป็นข้อห้าม ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยอย่างเพียงพอ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะโปมอร์ฟีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร

เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยา อะโปมอร์ฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

อะโปมอร์ฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะโปมอร์ฟีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: อาจพบอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลงทั้งในขณะที่หัวใจบีบตัวและคลายตัว
  • ผลต่อจิตใจ: เกิดภาวะประสาทหลอน รู้สึกสับสน  อาจเกิดอารมณ์ก้าวร้าว
  • ผลต่อระบบประสาท: เกิดภาวะไมเกรน หนาวสั่น  วิงเวียน ง่วงนอน
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: พบว่า กับผู้ป่วยบางรายยานี้อาจกระตุ้นให้องคชาติเกิดการแข็งตัว

มีข้อควรระวังการใช้อะโปมอร์ฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโปมอร์ฟีน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้ชนิดรับประทาน ร่วมกับการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามฉีดยานี้เข้าหลอดเลือด *ให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น
  • มียาหลายรายการที่สามารถทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอะโปมอร์ฟีนได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อนหน้านี้
  • ขณะใช้ยานี้ ควรต้องเฝ้าระวังควบคุมเรื่องความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรขณะที่ใช้ยานี้
  • *หลังการใช้ยานี้ แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล ก่อนวันนัด
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันที เมื่อพบอาการแพ้ยา พร้อมกับนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะโปมอร์ฟีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะโปมอร์ฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะโปมอร์ฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น      

  • การใช้ยาอะโปมอร์ฟีน ร่วมกับยา Brompheniramine, Codeine, Propoxyphene, อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ, อาการเหล่านี้จะพบมากในผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาอะโปมอร์ฟีน ร่วมกับยา Clarithromycin, Terbutaline, ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือส่งผลทำให้เกิดภาวะผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ/EKG ที่เรียกว่า Congenital long QT syndrome ติดตามมา
  • การใช้ยาอะโปมอร์ฟีน ร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ,  ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา  Amiodarone, Quinidine, Sotalo, Ketoconazole, Bepridil  , Cisapride, Droperidol, Astemizole, Terfenadine, Telithromycin, Erythromycin, Thioridazine, Vardenafil, Pimozide, Quinolone, Ciprofloxacin, Dolasetron, Imipramine, Ziprasidone,  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาอะโปมอร์ฟีนอย่างไร?

 สามารถเก็บยาอะโปมอร์ฟีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือ เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะโปมอร์ฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะโปมอร์ฟีน  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ixense (ไอเซน) Takeda
APO-go (แอโพ-โก) Stada
Uprima (อัพไพรมา) Abbott

 

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าอื่นของยาอะโปมอร์ฟีนที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Apokyn, Spontane

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine_agonist   [2022,Dec31]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Apomorphine#Pharmacology  [2022,Dec31]
  3. https://www.drugs.com/dosage/apomorphine.html  [2022,Dec31]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=Apomorphine   [2022,Dec31]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/APO-go/?type=brief  [2022,Dec31]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/apomorphine-index.html?filter=3&generic_only=#C   [2022,Dec31]
  7. https://go.drugbank.com/drugs/DB00714  [2022,Dec31]