อะโครเมกาลี โรคใหญ่โตแต่หายาก (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

อะโครเมกาลี-โรคใหญ่โตแต่หายาก-5

ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้การรักษามากกว่า 1 วิธี เช่น

  • การผ่าตัดผ่านกล้องทางรูจมูกเพื่อรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง (Endoscopic transnasal transsphenoidal surgery) ซึ่งจะช่วยให้การหลั่งโกรทฮอร์โมนกลับมาเป็นปกติ และลดการกดทับของเนื้อเยื่อรอบต่อมใต้สมอง วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีกับคนส่วนใหญ่ แม้ว่าบางกรณีก้อนเนื้อจะใหญ่เกินกว่าจะเอาออกได้ทั้งหมด
  • การให้ยาเพื่อลดการผลิตหรือปิดกั้นโกรทฮอร์โมน เช่น ยากลุ่มดังต่อไปนี้
    • Somatostatin analogues - ก่อนใช้ยานี้จะมีการทดสอบด้วยการฉีดยาใต้ผิวหนัง (Subcutaneously) ก่อนว่า มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือไม่และยาใช้ได้ผลจริง หลังจากนั้นจึงมีการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อสะโพก (Gluteal muscles) เดือนละครั้ง ยาตัวนี้จะควบคุมการหลั่งของโกรทฮอร์โมน และทำให้ก้อนเนื้อหดตัวลงในบางคน
    • Dopamine agonists - ด้วยการกินสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อลดการผลิตโกรทฮอร์โมน (แต่ใช้ได้ผลในคนกลุ่มน้อย)
    • Growth hormone antagonist - ยานี้ใช้ฉีดใต้ผิวหนังทุกวัน จะช่วยให้ค่า IGF-I อยู่ในระดับปกติ แต่ไม่ได้ลดค่าของ GH หรือไม่ได้ทำให้ก้อนเนื้อเล็กลง

ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการใช้ยาแต่ละตัวที่มีข้อดีและผลข้างเคียงในการใช้ยาที่แตกต่างกันไป

  • การฉายแสง (Radiation) กรณีที่ยังมีก้อนเนื้อเหลืออยู่หลังการผ่าตัด การฉายแสงจะช่วยทำลายเซลล์ก้อนเนื้อและลดค่า GH ลง ด้วยวิธีนี้อาจใช้เวลาในการรักษาเป็นปีเพื่อให้เห็นผล ซึ่งการฉายแสงสามารถทำได้ด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
    • การฉายรังสีแบบดั้งเดิม (Conventional radiation therapy) – โดยการฉายแสงทุกวันเป็นเวลานาน 4-6 สัปดาห์ ซึ่งวิธีนี้อาจใช้เวลา 10 ปี หรือมากกว่า จึงจะเห็นผลได้เต็มที่
    • การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton beam therapy) – โดยการยิงลำแสงปริมาณมากไปยังจุดเป้าหมาย การรักษาจะใช้เวลาน้อยกว่าการฉายรังสีแบบดั้งเดิม
    • รังสีศัลยกรรมร่วมพิกัด (Stereotactic radiosurgery หรือที่เรียกกันว่า Gamma Knife radiosurgery) เป็นการยิงรังสีปริมาณที่มากไปยังจุดเฉพาะ และจำกัดรังสีไม่ให้ไปโดนเนื้อเยื่อปกติโดยรอบ วิธี้อาจทำให้ระดับโกรทฮอร์โมนลดลงสู่ระดับปกติภายใน 3-5 ปี

สำหรับการเลือกใช้วิธีไหนจะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ว่า ผู้ป่วยเหมาะกับวิธีไหน โดยพิจารณาจาก

  • ขนาดและบริเวณของเซลล์ก้อนเนื้อที่ยังหลงเหลืออยู่
  • ค่าของ IGF-I

โดยหลังการรักษาจะต้องมีการติดตามผลการรักษาว่า ต่อมใต้สมองมีการทำงานเป็นปกติแล้วหรือยัง ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามผลการรักษาไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย

อนึ่ง เนื่องจากมีหลักฐานระบุว่า โรคอะโครเมกาลีอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี

แหล่งข้อมูล:

  1. Acromegaly. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acromegaly/home/ovc-20177622 [2017, June 18].
  2. Acromegaly. Acromegaly. http://www.nhs.uk/conditions/acromegaly/Pages/Introduction.aspx [2017, June 18].