อะโครเมกาลี โรคใหญ่โตแต่หายาก (ตอนที่ 4)

อะโครเมกาลี-โรคใหญ่โตแต่หายาก-4

อาการแทรกซ้อน (ต่อ)

  • โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)
  • ภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย (Hypopituitarism)
  • เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids)
  • ไขสันหลังถูกกดทับ (Spinal cord compression)
  • สูญเสียการมองเห็น (Vision loss)

ในการวินิจฉัยโรค แพทย์จะซักประวัติ ทำการตรวจร่างกาย และอาจให้ทำการตรวจดังต่อไปนี้

  • การวัดค่าฮอร์โมน GH และ IGF-I ในเลือด ด้วยการงดอาหารก่อนตรวจเลือด หากพบค่าเหล่านี้อยู่ในระดับที่สูงก็แสดงเป็นนัยว่า มีโอกาสเป็นโรคอะโครเมกาลีได้
  • การทดสอบการหยุดยั้งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone suppression test) เป็นวิธีการทดสอบว่าเป็นโรคอะโครเมกาลีที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ในการทดสอบนี้จะมีการวัดค่า GH ก่อนและหลังการดื่มน้ำตาล (Glucose) เพราะปกติการย่อยน้ำตาลจะทำให้ค่า GH ลดลง แต่หากเป็นโรคอะโครเมกาลี ค่า GH จะยังคงสูงอยู่
  • ภาพวินิจฉัย (Imaging) แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยการใช้ภาพวินิจฉัย เช่น การตรวจเอ็มอาร์ไอ การตรวจซีทีสแกน เพื่อดูตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อต่อมใต้สมอง หรืออวัยวะอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ค่า GH สูง
  • โรคอะโครเมกาลีสามารถรักษาได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากมีอาการที่ไม่ชัดเจนหรือใช้เวลานานกว่าจะสังเกตเห็นหรือวินิจฉัยได้ถูก จึงทำให้การรักษาล่าช้าไป และทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย

    การรักษาที่เร็วสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือทำให้อาการแย่ลง แต่หากไม่รักษา อาการแทรกซ้อนจะสามารถเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

    โดยการรักษามีเป้าหมาย คือ

    • ลดการหลั่งฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติ
    • ลดการกดทับของก้อนเนื้อบนบริเวณโดยรอบ
    • รักษาอาการขาดฮอร์โมน (Hormone deficiencies)
    • รักษาอาการของโรคที่เกิดขึ้น

    แหล่งข้อมูล:

    1. Acromegaly. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acromegaly/home/ovc-20177622 [2017, June 16].
    2. Acromegaly. Acromegaly. http://www.nhs.uk/conditions/acromegaly/Pages/Introduction.aspx [2017, June 16].