อะโครเมกาลี โรคใหญ่โตแต่หายาก (ตอนที่ 1)

อะโครเมกาลี-โรคใหญ่โตแต่หายาก-1

รศ.นพ.ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) เป็นหนึ่งในโรคหายาก (Rare Disease) ที่มีความรุนแรงต่อชีวิต สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอัตราเสียชีวิตสูงเป็น 2-4 เท่าของคนปกติ ซึ่งสังคมไทยควรเร่งหันมาตระหนักถึงความสำคัญ และให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

รศ.นพ.ธวัชชัย อธิบายว่า โรคอะโครเมกาลี มีสาเหตุมาจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยสร้างโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) มากกว่าคนปกติทั่วไป

เมื่อมีภาวะดังกล่าวในช่วงวัยผู้ใหญ่ก็ส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายค่อยๆ เจริญเติบโตอย่างผิดปกติ เช่น มือเท้าใหญ่หยาบกร้านขึ้น เสียงเปลี่ยน ลิ้นคับปาก หน้าตาเปลี่ยน คิ้วโหนกขึ้น จมูกใหญ่ขึ้น คางยื่นขึ้น ปากใหญ่ขึ้น ฟันห่าง เป็นต้น

นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ลักษณะภายนอกร่างกายแล้ว โกรทฮอร์โมนยังสามารถกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้อีกด้วย อาทิ หัวใจและตับจะโตมากขึ้น ข้อจะเสื่อมเร็ว หลังโก่ง รวมถึงมีโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจโต

อย่างไรก็ตาม อาการของโรคจะแสดงออกอย่างช้าๆ ทั้งยังอาจมีอาการบางอย่างที่ทำให้คิดได้ว่าเป็นโรคอื่นๆ ประกอบกับเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก จึงทำให้โรคอะโครเมกาลีนี้จัดเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากโรคหนึ่ง

ด้าน ศ.นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ ประธานวิชาการ สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีรายงานความชุกของโรคอะโครเมกาลีประมาณ 50 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน นับได้ว่าเป็นหนึ่งในโรคหายาก เนื่องจากมีอัตราการพบผู้ป่วยจำนวนน้อยกว่า 5 ราย ในประชากร 10,000 คน

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ทำการศึกษาชัดเจน แต่คาดการณ์ว่า อาจจะมีผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมดเกือบ 3,000 รายทั่วประเทศ

โดยในช่วงปีที่ผ่านมาทางสมาคมต่อมไร้ท่อได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองที่ได้รับการรักษาในโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย จำนวน 11 แห่ง พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มเนื้องอกต่อมใต้สมองที่สร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ประมาณร้อยละ 14.7

ศ.นพ.ชัยชาญ กล่าวว่า การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกเป็นทางเลือกแรกของการรักษาโรคอะโครเมกาลี เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่มากอาจไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผ่าตัดออกได้ไม่หมด

ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาถัดไป เช่น การฉายแสงและการใช้ยาเพื่อลดและควบคุมระดับฮอร์โมน หรืออาจใช้การฉายแสงควบคู่ไปกับการให้ยาด้วย เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. มือเท้าใหญ่ ลิ้นคับปาก หัวใจ-ตับโต อาการ “โรคอะโครเมกาลี”. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000115562&Keyword=%e2%c3%a4 [2017, June 14].