อะมิซัลไพรด์ (Amisulpride)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะมิซัลไพรด์(Amisulpride) เป็นยาในกลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์(Dopamine antagonist) ทางคลินิก นำมาบำบัดอาการจิตเภท ปกติผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีอาการคุ้มคลั่ง ประสาทหลอน เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ เบื่อหน่าย สังคม ซึมเศร้า รวมถึงมีอาการไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar) ตัวยาจะออก ฤทธิ์ที่สมองในบริเวณตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า D2(Dopamine 2) และ D3 receptor ซึ่งจะมีผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาท โดพามีน(Dopamine)

ยาอะมิซัลไพรด์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ตัวยาประมาณ 48% สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และเข้าสู่กระแสเลือด ตับเป็นอวัยวะ ที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ยาอะมิซัลไพรด์สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ประมาณ 12 ชั่วโมงก่อนจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ ไม่เหมาะต่อการใช้ยาอะมิซัลไพรด์ อย่างเช่น

  • ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาอะมิซัลไพรด์
  • ผู้ป่วยด้วย โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งที่ต่อมหมวกไต ผู้ป่วยPheochromocytoma
  • เด็ก สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยยานี้สามารถส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • ผู้ที่ได้รับยา Levodopa อย่างเช่น ผู้ป่วยพาร์กินสัน

อนึ่ง ด้วยยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ในสมอง จึงต้องระวังอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อย่างเช่น มีไข้ เกิดอาการชัก มีอาการหายใจถี่หายใจเร็ว เหงื่อออกมาก การครองสติไม่เหมือนปกติ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง/เป็นตะคริว นอกจากนี้ ยานี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรืออาจทำให้ไตทำงานผิดปกติ

การใช้ยาอะมิซัลไพรด์กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ก็อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ตรวจสอบความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร รวมถึงต้องระวังภาวะหลอดเลือดในสมองตีบซึ่งสามารถสังเกตได้จากผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการความจำเสื่อม

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ของยาอะมิซัลไพรด์ต่อระบบอวัยวะอื่นๆของร่างกายได้อีก ไม่ว่าจะเป็น หัวใจ ตับ ระบบทางเดินอาหาร ตา ผิวหนัง และสภาพจิตใจ

เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบจากอาการข้างเคียงดังกล่าว ผู้ป่วยจึงควรต้องใช้ยาอะมิซัลไพรด์ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด *การปรับเพิ่มขนาดรับประทานขึ้นเองโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยเกิด อาการชัก มีอาการหัวใจเต้นเร็ว ง่วงนอน ความดันโลหิตต่ำ จนกระทั่งเกิดภาวะโคม่าตามมา กรณีนี้แพทย์อาจต้องใช้วิธีล้างท้องและบำบัดอาการตามสัญญาณชีพที่ตรวจพบในขณะนั้นๆ

แพทย์ยังต้องระวังมิให้ผู้ป่วยใช้ยาบางประเภทร่วมกับยาอะมิซัลไพรด์ ด้วยยาเหล่านั้นสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)โดยเฉพาะกลุ่มยา TCAs, Beta blockers, Calcium channel blockers, Clonidine, และ Guanfacine

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย จัดให้ยาอะมิซัลไพรด์เป็นยาอันตราย และการใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

อะมิซัลไพรด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะมิซัลไพรด์

ยาอะมิซัลไพรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการจิตเภททั้งประเภทเฉียบพลันและเรื้อรัง

อะมิซัลไพรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะมิซัลไพรด์ มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ชื่อ D2 receptor และ D3 receptor ในสมอง ส่งผลต่อการปลดปล่อยและการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทอย่าง Dopamine ได้อย่างเหมาะสม ด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยจิตเภทมีอาการดีขึ้น

อะมิซัลไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะมิซัลไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Amisulpride ขนาด 50, 100, 200, และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด

อะมิซัลไพรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะมิซัลไพรด์ มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400–800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัม/วัน และควรรับประทานก่อนอาหารหรือในช่วงท้องว่าง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะมิซัลไพรด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมิซัลไพรด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การรับประทานยาอะมิซัลไพรด์ของผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเภท ต้องพึ่งพาอาศัยญาติเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดยารับประทานให้ผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยลืมรับประทานยา ซึ่งกรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยาอะมิซัลไพรด์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ

อะมิซัลไพรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะมิซัลไพรด์สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน อาจเกิดภาวะลมชัก ตัวสั่น
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย ประจำเดือนขาด(ในสตรี)
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีน้ำนมไหลผิดปกติ(เกิดได้ทั้งในบุรุษ และในสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร) มีหน้าอก/เต้านมโต
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจเกิดอาการผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้อะมิซัลไพรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิซัลไพรด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง ควรรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์ ด้วยอาจมีอาการถอนยา หรือทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
  • หากใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามแพทย์แนะนำ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้ยานี้หลังการรับประทาน เช่น ตัวบวม มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออ/หายใจลำบาก แล้วรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ระหว่างการใช้ยานี้หากมี อาการวิงเวียน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะมิซัลไพรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะมิซัลไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะมิซัลไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอะมิซัลไพรด์ร่วมกับยา Cisapride, Thioridazine, Halofantrine, และ Erythromycin, ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามรับประทานยาอะมิซัลไพรด์ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง/กดสมองเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะมิซัลไพรด์ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง เพราะอาจก่อให้ เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • การใช้ยาอะมิซัลไพรด์ร่วมกับ ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก อาจก่อให้เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาอะมิซัลไพรด์อย่างไร?

ควรเก็บยาอะมิซัลไพรด์ ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อะมิซัลไพรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะมิซัลไพรด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Solian (โซเลียน)sanofi-aventis

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยา อะมิซัลไพรด์ในต่างประเทศ เช่น Amazeo, Amipride, Amival, Solian, Soltus, Sulpitac , Sulprix , Socian

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Amisulpride#Pharmacology[2017,May27]
  2. https://www.drugs.com/uk/amisulpride-100mg-tablets-spc-9995.html[2017,May27]
  3. http://www.arrowpharma.com.au/wp-content/uploads/1970/01/Amipride_PI.pdf[2017,May27]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/amisulpride/?type=brief&mtype=generic[2017,May27]