อะดีนอยด์โต (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

อะดีนอยด์โต-2

การรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง หากไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ แพทย์อาจให้รอดูอาการเพื่อให้ต่อมหดตัวลงเองเมื่อโตขึ้น บางกรณีอาจมีการให้ยาสเตียรอยด์เพื่อให้ต่อมหดตัวลง หรือหากไม่หายแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าต่อมอะดีนอยด์ออก (Adenoidectomy) ในกรณีดังต่อไปนี้

  • เด็กมีการติดเชื้อบ่อยที่สามารถทำให้เป็นไซนัสและการติดเชื้อที่หูซึ่งอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน
  • ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotic treatments)
  • มีอาการต่อมโตมากกว่า 5-6 ครั้งต่อปี
  • อาการป่วยทำให้เด็กขาดเรียนบ่อย

และหากเด็กมีการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลบ่อยด้วย แพทย์ก็อาจจะแนะนำให้ตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) ไปด้วยพร้อมกัน

สำหรับการผ่าตัดจะไม่มีการกรีดผิวหนังแต่อย่างใด แต่เป็นการใช้เครื่องมือสอดผ่านทางปากเพื่อตัดต่อมออก แล้วจึงปิดแผลด้วยการจี้ด้วยความร้อน (Cauterizing) โดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยอาจกลับบ้านได้เลยในวันนั้นหรือรอดูอาการที่โรงพยาบาลก่อน

หลังการตัดต่อมอะดีนอยด์ออกแล้ว เด็กอาจมีอาการดังนี้

  • เจ็บคอ
  • เป็นไข้
  • เลือดออก
  • เจ็บหู
  • จมูกตัน (Blocked nose)
  • ตกสะเก็ดในปาก (Scabs)

ซึ่งแพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และยาลดไข้แก้ปวด ส่วนผู้ปกครองควร

  • ให้เด็กดื่มน้ำให้มากเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ให้เด็กกินของเย็น เช่น มิลค์เชค ไอศครีม เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงของร้อนในสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
  • อาจใช้การประคบเย็นบริเวณคอเด็ก เพื่อลดอาการปวดบวม
  • ให้เด็กงดกิจกรรมหนักชั่วคราว

ทั้งนี้ การผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงในการเลือดออกและติดเชื้อบริเวณที่ผ่า

สำหรับการป้องกันที่ทำได้ คือ การรักษาสุขภาพเด็กให้แข็งแรง เพื่อให้สามารถต่อต้านกับการติดเชื้อหรืออาการภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุทำให้ต่อมโต

แหล่งข้อมูล:

  1. Adenoiditis. http://www.webmd.com/children/adenoiditis#1 [2017, September 30].
  2. Enlarged Adenoids. http://www.healthline.com/health/enlarged-adenoids#overview1 [2017, September 30].
  3. What is Adenoid Hypertrophy? http://www.medanta.org/adenoid-hypertrophy/ [2017, September 30].
  4. Adenoid Removal.https://www.healthline.com/health/adenoid-removal#recovery6 [2017, September 30].