อะดีนอยด์โต (ตอนที่ 1)

อะดีนอยด์โต-1

หลังจากที่คุณแม่ยังสาวพาลูกชายไปตรวจกับคุณหมอ เพราะลูกชายตัวน้อยนอนกรนจนผิดปกติ และต่อมาได้ทำการทดสอบการนอนหลับ (Sleep test) จนสุดท้ายไปเอกซเรย์จึงพบว่า อาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการที่ต่อมอะดีนอยด์โต ส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้มีอาการกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จนปัจจุบันคุณแม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ลูกชายได้เข้ารับการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoids) เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก (Nasopharynx) มีลักษณะคล้ายกับต่อมทอนซิล (Tonsils) อยู่ด้านบนขวาของต่อมทอนซิล แต่มองไม่ค่อยเห็น มีหน้าที่ป้องกันและทำลายเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น

ต่อมอะดีนอยด์จะโตระหว่างที่เด็กอายุ 3-5 ปี และมักจะหยุดโตที่อายุประมาณ 7 ปี ต่อมจะทำหน้าที่น้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้นจะลดขนาดลง และไม่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในผู้ใหญ่

ต่อมอะดีนอยด์โต (Adenoid hypertrophy / Enlarged adenoids) เกิดเมื่อต่อมอะดีนอยด์ติดเชื้อ ต่อมจะโตขึ้นและกลับสู่สภาพปกติเมื่อทุเลาลง อย่างไรก็ดี บางกรณีต่อมอะดีนอยด์ยังโตต่อไปแม้ว่าจะหายจากการติดเชื้อแล้ว และบางกรณีต่อมอะดีนอยด์โตมีสาเหตุมาจากการเป็นภูมิแพ้ ในขณะที่เด็กบางคนจะมีต่อมอะดีนอยด์โตมาแต่กำเนิด

ต่อมอะดีนอยด์โตอาจทำให้เกิดอาการได้หลายอย่าง เช่น

  • จมูกตัน หายใจไม่ออก (Stuffy nose)
  • มีปัญหาเรื่องหู เช่น ปวดหู หรือไม่ค่อยได้ยิน
  • มีปัญหาเรื่องการนอน
  • กรน
  • เจ็บคอ
  • กลืนลำบาก
  • ต่อมที่คอโต
  • มีปัญหาเรื่องการหายใจทางจมูก
  • หายใจเสียงดัง
  • หูชั้นกลางอักเสบ (Glue ear)
  • ปากแห้ง (เพราะมีการหายใจทางปาก)
  • หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)

โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยว่ามีภาวะต่อมอะดีนอยด์โตหรือไม่ได้ด้วยการ

  • ตรวจร่างกายด้วยการส่องกล้อง (Endoscope) ทางจมูก
  • ตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อ
  • เอ็กซเรย์
  • ตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ (Sleep study)

แหล่งข้อมูล:

  1. เป้ย อัพเดตอาการป่วย น้องโปรด หลังเข้ารักษาโรคนอนกรนในเด็ก. https://www.thairath.co.th/content/1043477 [2017, September 29].
  2. Enlarged Adenoids. http://www.healthline.com/health/enlarged-adenoids#overview1 [2017, September 29].