ออทิสติกแท้และเทียม (ตอนที่ 9)

ออทิสติกแท้และเทียม-9

      

      สำหรับ “ออทิสติกเทียม” หรือ “พฤติกรรมคล้ายออทิสติก” (Pseudo-autism) เป็น “อาการภาวะเด็กขาดการกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการสื่อสารกับผู้อื่น เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูขาดการมีปฏิสัมพันธ์กิจกรรมร่วมกับเด็ก โดยพบมากในเด็กวัยเตรียมอนุบาลและวัยอนุบาล

      โดยสาเหตุหลักๆ มาจากวิธีการเลี้ยงดูที่ละเลยปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์ แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน อันเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว (One-way Communication) หรือการรับสารเพียงทางเดียว จึงส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม โดยเด็กจะมีอาการคล้ายออทิสติก กล่าวคือ

      เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ มีความผิดปกติทางด้านภาษา คือ เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ ทั้งวัน และท้ายที่สุดมีความผิดปกติด้านพฤติกรรม คือ ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำๆ

      นอกจากนี้ยังมีผลต่อพัฒนาการที่ล่าช่า สมาธิสั้นอันเกิดจากความผิดปกติทางสมองและมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ นั่นคือ อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิทำกิจกรรมนั้นๆ ให้สำเร็จ นั่งทำอะไรนานๆ ไม่ได้

      ซึ่งวิธีการป้องกันให้เด็กห่างไกลจากออทิสติกเทียม สามารถทำได้ด้วยการให้เวลากับเด็ก ด้วยการพูดคุยกับเด็กบ่อยๆ อย่างน้อยควรคุยวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบโต้ตอบระหว่างกัน (Two-way Communication) และให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ที่ช่วยในการสื่อสาร ตลอดจนเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์และควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกับเด็กด้วยกันเองบ้าง

      ในกรณีสำหรับเด็กเล็กต้องพูดช้าๆ ชัดๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การออกเสียงและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้เลี้ยงดู

      นอกจากนี้ ไม่ควรนำสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาให้เด็กเล่นในการเลี้ยงช่วง 1.5 ขวบปีแรก เพราะวัยนี้เป็นวัยพัฒนาสมองของเด็ก เป็นวัยแห่งการเลียนแบบ พ่อแม่ต้องมอบความรักความอบอุ่น รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้วยการเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการสมองและร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นเพียงลำพัง

      ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 นายกรัฐมนตรีได้กำหนดคำขวัญว่า รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี ซึ่งพ่อแม่นับเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพเด็กไทย ให้บรรลุตามคำขวัญดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นมาก เนื่องจากในรอบ 10 ปีมานี้ เด็กไทยมีอัตราเกิดลดลง

      จากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2559 มีเด็กเกิดมีชีวิตทั้งหมด 666, 207 คน เฉลี่ยนาทีละ 1.26 คน ในขณะที่ในปี 2549 มีเด็กเกิดมีชีวิต 793,623 คน เฉลี่ยนาทีละ 1.5 คน การเลี้ยงดูจึงต้องเน้นอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กที่เกิดในวันนี้มีศักยภาพ มีคุณภาพ มีคุณค่าและมีความสุข

แหล่งข้อมูล:

  1. รู้เท่าทัน “ออทิสติกเทียม” ภัยเงียบจากโลกออนไลน์. https://mgronline.com/goodhealth/detail/9610000005499 [2018, February 4].
  2. 9 วิธีเล่นกับ "ลูก" ช่วยเด็กฉลาด คิดเป็น. http://www.thaihealth.or.th/Content/40266-9 วิธีเล่นกับ "ลูก" ช่วยเด็กฉลาด คิดเป็น.html [2018, February 4].