ออทิสติกแท้และเทียม (ตอนที่ 11 และตอนจบ)

ออทิสติกแท้และเทียม-11

      

วิธีปฏิบัติ 9 ประการ เพื่อส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยผ่านการเล่น

1. จัดมุมเล่นบทบาทสมมุติในบ้านหรือห้องเรียน พร้อมอุปกรณ์ เช่น เสื้อผ้า ของใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์ที่ใช้วาดรูป ยิ่งมากยิ่งหลากหลาย เด็กจะสร้างสรรค์ได้มากเท่าที่จินตนาการจะพาไป การเล่นสวมบทบาทเป็นคนอื่นหรือตัวละครจากนิทาน การวาดรูป ระบายสี ปั้นแป้ง จะช่วยให้เด็กแสดงออกถึงความคิด

2. เล่นกับลูกเมื่อลูกชวนเล่นตามเรื่องที่เด็กสร้างขึ้น โดยให้ลูกเป็นผู้นำการเล่น เพื่อให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการอย่างเป็นอิสระ หากพ่อแม่เป็นผู้นำการเล่นเอง จะขัดขวางจินตนาการของเด็ก

3. เตรียมอุปกรณ์ต่างๆเพื่อให้เด็กเล่นสร้างบ้าน เพราะบ้านเป็นสถานที่ที่เด็กรู้สึกผ่อนคลายอบอุ่นและปลอดภัย เด็กจะใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างบ้านแบบต่างๆ ที่เด็กฝันอยากจะมี

4. ส่งเสริมให้ลูกเล่นของเล่นอย่างอิสระ เช่น บล็อก ตัวต่อเลโก้ ดินน้ำมัน หรือเล่นทราย ที่สามารถต่อหรือสร้างเป็นอะไรก็ได้ ของเล่นประเภทนี้จะช่วยให้เด็กใช้ความคิด จินตนาการอย่างไม่มีข้อจำกัด

5. เล่นเล่าเรื่องคนละประโยคหรือเล่นต่อเพลง เด็กจะได้รับการกระตุ้นให้คิด

6. พาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติให้มากเท่าที่จะทำได้ เช่น ไปเที่ยวสวนสาธารณะ สวนสัตว์ ทะเล น้ำตก ป่า ความหลากหลายในธรรมชาติ มีทั้งพืช สัตว์ ก้อนหิน ดินทราย ถือเป็นครูทางจินตนาการของเด็ก ฝึกให้เด็กช่างสังเกต กระตุ้นความอยากในการเรียนรู้

7. ใช้หัวใจมองเห็นสิ่งมหัศจรรย์ในตัวลูก รักเขาตามที่เขาเป็น อย่าใช้ความคาดหวังของพ่อแม่ตัดสินลูกหรือเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น เพราะเด็กมีความพิเศษต่างกัน ที่สำคัญเด็กที่ฉลาด มักคิดต่างจากใครๆโดยเฉพาะผู้ใหญ่

8. สร้างบรรยากาศแห่งความรักความอบอุ่นในครอบครัว เด็กจะได้ทั้งอาหารใจและยาบำรุงสมองชั้นดีด้วย

9. ควรฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และคอยตอบคำถามของลูกด้วยความรักและความใส่ใจ

พญ.กุสุมาวดี กล่าวถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกที่พ่อแม่ไม่ควรนำมาใช้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นตัวการทำลายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในตัวลูก มี 7 ข้อ ดังนี้

1. รักและปกป้องลูกมากเกินไป เช่น เลี้ยงแบบคุณหนู ไม่กล้าให้ลูกทำอะไร หรือตีกรอบให้ลูกทำตาม

2. บังคับขู่เข็ญ ดุดัน เจ้าระเบียบมากเกินไป

3. มองการกระทำหรือการเล่นของลูกเป็นเรื่องไร้สาระและน่ารำคาญ

4. เคี่ยวเข็ญเรื่องเรียน เร่งให้ลูกปฐมวัยอ่านออกเขียนได้เร็วๆ

5. เห็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กเป็นเรื่องของเด็กดื้อ ต่อต้าน ไม่ฟังคำสั่ง

6. ไม่สนใจต่อความรู้สึกและความต้องการของลูก และ

7. ให้อิสระหรือตามใจลูกมากเกินไปจนขาดการสร้างวินัยและความรับผิดชอบ

แหล่งข้อมูล:

  1. 9 วิธีเล่นกับ "ลูก" ช่วยเด็กฉลาด คิดเป็น. http://www.thaihealth.or.th/Content/40266-9 วิธีเล่นกับ "ลูก" ช่วยเด็กฉลาด คิดเป็น.html [2018, February 6].