ออกซีบิวไทนิน (Oxybutynin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาออกซีบิวไทนิน (Oxybutynin) เป็นยาในกลุ่ม Antimuscarinic หรือ Anticholinergic มีฤทธิ์ลดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทางคลินิกจึงได้นำมารักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือการปัสสาวะถี่จนเกินไป รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน แต่ในต่างประเทศอาจจะพบเป็นรูปแบบของเจลทาผิวหนังรวมถึงชนิดแผ่นพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

เมื่อตัวยาออกซีบิวไทนินถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหาร จะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 91 - 93% ตัวยาออกซีบิวไทนินในกระแสเลือดสามารถผ่านเข้าสู่สมองและซึมออกมากับน้ำนมของมารดาได้ ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังการใช้ยาออกซีบิวไทนินคือ อาการปากแห้ง ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ท้องผูก เป็นต้น

ข้อมูลด้านความปลอดภัยและข้อจำกัดของการใช้ยาออกซีบิวไทนินที่ผู้บริโภคควรทราบมีดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก ผู้ที่มีระบบทางเดินอาหารไม่ทำงานหรือมีการบีบตัวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้น้อย รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคต้อหินที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ด้วยการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะทำให้อาการป่วยดังกล่าวกำเริบมากยิ่งขึ้น
  • หากพบกรณีใช้ยาออกซีบิวไทนินไปแล้วกลับมีอาการใบหน้าบวม ตัวบวม ควรต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะความจำเสื่อมอาจไปกระตุ้นให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงขึ้น
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบเพราะจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนเป็นอย่างมาก
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงๆด้วยผู้ป่วยจะมีความสามารถทน ต่ออุณหภูมิสูงได้น้อยลง
  • ต้องคำนึงถึงยาอื่นๆที่ผู้ป่วยมีไว้รับประทานก่อนที่จะใช้ยาออกซีบิวไทนินเพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาต่อกันได้

ทั้งนี้คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาออกซีบิวไทนินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยเป็นกลุ่มของยาอันตราย และระบุเงื่อนไขการใช้ในอาการดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อยจากการทำงานมากเกินของกระเพาะปัสสาวะ (Overactive urinary bladder) และกรณีกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) แต่ยกเว้นการใช้กับการกลั้นปัสสาวะไมอยู่ชนิด Stress incontinence (ปัสสาวะเล็ดเมื่อไอจาม อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี)
  • ไม่ใช้ยานี้กับอาการปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก (Nocturnal enuresis)

โดยทั่วไประยะเวลาที่จะเห็นประสิทธิผลของการรักษาของยาออกซีบิวไทนินจะขึ้นอยู่กับการใช้ยาอย่างถูกต้องของขนาดรับประทานและขึ้นกับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกของการใช้ยา แต่บางรายอาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 8 สัปดาห์จึงเห็นประสิทธิผล ประการสำคัญผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดยานี้ด้วยตนเอง

ออกซีบิวไทนินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ออกซีบิวไทนิน

ยาออกซีบิวไทนินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence)
  • บำบัดอาการปัสสาวะบ่อย (Urinary frequency)

ออกซีบิวไทนินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาออกซีบิไทนินคือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Acetylcholine ส่งผลให้ลดอาการหดเกร็งและทำให้ผนังกล้ามเนื้อเรียบเกิดการคลายตัว จากกลไกนี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ออกซีบิวไทนินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาออกซีบิวไทนินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

ออกซีบิวไทนินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาออกซีบิวไทนินมีขนาดรับประทานสำหรับรักษาอาการโรคต่างๆเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 - 10 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แพทย์สามารถปรับขนาดเพิ่มขึ้นได้ 5 มิลลิกรัม/วันในแต่ละช่วงของสัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: รับประทาน 5 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีลงมาต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาออกซีบิวไทนิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซีบิวไทนินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาออกซีบิวไทนินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาออกซีบิวไทนินตรงเวลา

ออกซีบิวไทนินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออกซีบิวไทนินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พีงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เกิดลมชัก ทนอุณหภูมิสูงไม่ดีเท่าเดิม ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง ชีพจรเต้นผิดปกติ บวมตามปลายมือและเท้า หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก อาจมีอาการผื่นคันตามผิวหนังเกิดขึ้นได้ ผิวแห้ง เหงื่อออกน้อย ท่อปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะไม่ออก ยับยั้งการหลั่งน้ำนมมารดา ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น อาจมีอาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ตาพร่า ตาแห้ง รูม่านตาขยาย แก้วตาแห้งและอักเสบ ระคายเคืองตา ปวดหลัง มีอาการซึมเศร้า ประสาทหลอน อ่อนแรง เกิดการติดเชื้อรา มีอาการคล้ายเป็นโรคหวัด หน้าแดง และอาจมีไข้

*สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการ: สับสน มีอาการชัก วิงเวียนมาก ง่วงนอนมาก เป็นลม หัวใจอาจเต้นเร็วหรือช้าหรือเต้นผิดปกติ มีไข้ หน้าแดง ประสาทหลอน และหายใจลำบาก หากพบอาการเหล่านี้ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ออกซีบิวไทนินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาออกซีบิวไทนินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาออกซีบิวไทนิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยที่กระเพาะอาหาร-ลำไส้บีบตัวน้อย ผู้ป่วยโรคต้อหินที่ไม่ยังสามารถควบคุมอาการได้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาท การทำงานของตับ-ไตให้เป็นปกติอยู่เสมอ
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานให้กลืนยาพร้อมกับน้ำสะอาด ห้ามเคี้ยวหรือบดก่อนการรับประทาน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยความจำเสื่อม ด้วยยาออกซีบิวไทนินอาจทำให้อาการโรคดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุด้วยอาจมีอาการง่วงนอนวิงเวียนขณะที่ใช้ยานี้
  • หากพบอาการแพ้ยานี้หลังการรับประทาน ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีที่ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้กลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซีบิวไทนินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ออกซีบิวไทนินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาออกซีบิวไทนินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาออกซีบิวไทนินร่วมกับยา Potassium chloride ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดแผลและมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • การใช้ยาออกซีบิวไทนินร่วมกับยา Topiramate อาจทำให้การขับเหงื่อของร่างกายลดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยทนต่ออุณหภูมิในบรรยากาศได้ไม่ดีเท่าเดิม กรณีที่ไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาออกซีบิวไทนินร่วมกับยา Diphenhydramine, Chlorpheniramine อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆเพิ่มมากขึ้นเช่น ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง หน้าแดง เหงื่อออกน้อย ทนอุณหภูมิสูงได้ไม่ดี เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องผูก หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาออกซีบิวไทนินร่วมกับยา Phenylephrine อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาออกซีบิวไทนินอย่างไร?

ควรเก็บยาออกซีบิวไทนินในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ออกซีบิวไทนินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออกซีบิไทนินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Diutropan (ไดยูโทรแพน) NuPharma & HealthCare
Lyrinel (ไลริเนล) Janssen-Cilag

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นในต่างประเทศของยาออกซีบิไทนิน เช่นยา Ditropan, Lyrinel, Lyrinel XL, Lenditro, Uripan

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Muscarinic_antagonist [2016,Jan30]
  2. http://www.drugs.com/pro/oxybutynin.html [2016,Jan30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Oxybutynin [2016,Jan30]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/128#item-8755 [2016,Jan30]
  5. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Oxybutynin [2016,Jan30]
  6. http://www.drugs.com/answers/long-oxybutynin-start-working-794333.html [2016,Jan30]
  7. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lyrinel/?type=brief [2016,Jan30]
  8. http://www.drugs.com/drug-interactions/oxybutynin-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan30]