ออกซาซิลลิน (Oxacillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาออกซาซิลลิน (Oxacillin) คือ ยาปฏิชีวนะอีกหนึ่งตัวที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งดื้อต่อยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ได้มีการใช้ยานี้กันอย่างแพร่หลายในประเทศอเมริกา ชื่อการค้าที่สามารถพบเห็นได้ในต่างประเทศคือ “Bactocil” การใช้ออกซาซิลลินเป็นเวลานานๆสามารถกระตุ้นให้เกิดการดื้อยาของเชื้อโรคกลุ่มอื่นได้

สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เด่นๆของยานี้ ได้แก่ ภาวะท้องเสียแบบไม่ค่อยรุนแรง ซึ่งหลายครั้งทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร (โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร)เพิ่มเข้ามา ดังนั้นการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับยานี้จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการรักษาเพิ่มขึ้น

ออกซาซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ออกซาซิลลิน

ยาออกซาซิลลินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยาออกซาซิลลิน

ออกซาซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาออกซาซิลลินคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้หยุดการเจริญเติบโตไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้และตายลงในที่สุด

ออกซาซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาออกซาซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาน้ำ ขนาด 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาฉีด ขนาด 1, 2 และ 10 กรัม/ขวด

ออกซาซิลลินมีขนาดการรับประทานอย่างไร?

ยาออกซาซิลลินมีขนาดการรับประทานเช่น

ก. กรณียารับประทาน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 1 กรัมทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 40 กิโลกรัม: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโล กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานทุก 6 ชั่วโมง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม: ใช้ขนาดยาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่หรืออยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • ควรรับประทานยานี้ช่วงท้องว่าง คือ ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือประมาณ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร

ข. กรณียาฉีด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 0.5 - 1 กรัม หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำโดยแบ่งการฉีดทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 40 กิโลกรัม: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 50 - 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการฉีดทุก 6 ชั่วโมง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 250 มิลลิกรัมฉีดทุก 6 ชั่วโมงหรือตามดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • สามารถเพิ่มขนาดการใช้ยานี้ได้ตามความรุนแรงของโรค แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออกซาซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยา แล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาออกซาซิลลิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ออกซาซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออกซาซิลลินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่างๆ เช่น

  • มีไข้
  • ผื่นคัน
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • เกิดภาวะผิดปกติในระบบโรคเลือด เช่น
    • เม็ดเลือดขาวต่ำ
    • เกล็ดเลือดต่ำ
  • นอกจากนี้ยังอาจพบ
    • ภาวะตับอักเสบ
    • ไตอักเสบ
    • มีเม็ดเลือดปนมากับปัสสาวะ (ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งตรวจพบจาก การตรวจปัสสาวะ)

*อนึ่ง: หากได้รับยาออกซาซิลลินเกินขนาด อาจจะพบอาการ

  • ประสาทหลอน
  • รู้สึกสับสน
  • ลมชัก
  • เกิดภาวะระดับเกลือโพแทสเซียมและเกลือโซเดียมในเลือดผิดปกติ (หัวใจเต้นผิดปกติ)

ซึ่ง หากเกิดอาการดังกล่าวหลังใช้ยานี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว การล้างไตด้วยการฟอกเลือด (Haemodialysis) จะช่วยเร่งการกำจัดยาออกซาซิลลินออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้ออกซาซิลลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาออกซาซิลลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือ แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มี ภาวะไตทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคหืด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุและเด็กทารก
  • การใช้ยาออกซาซิลลินเป็นเวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยมีการติดโรคเชื้อรา หรือเกิดแบคทีเรียที่ดื้อต่อยานี้ตามมาภายหลัง (เชื้อดื้อยา)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซาซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ออกซาซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาออกซาซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาออกซาซิลลิน ร่วมกับ ยากรดฟูซิดิก (Fusidic acid) สามารถทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยากรดฟูซิดิกด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาออกซาซิลลิน ร่วมกับยา Probenecid จะทำให้ระดับของยาออกซาซิลลินในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาตลอดจนผลข้างเคียงที่อาจได้รับติดตามมา การใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยาออกซาซิลลิน ร่วมกับยา Warfarin จะทำให้ฤทธิ์ของยา Warfarin เพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะเลือดออกง่ายติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะ สมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาออกซาซิลลินอย่างไร?

ควรเก็บยาออกซาซิลลิน:

  • เก็บยาในที่ที่มีอุณหภูมิที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ออกซาซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออกซาซิลลิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Biotam (ไบโอแทม)Sanavita Pharma
Bristopen (บริสโทเพน)Bristol-Myers Squibb
Clopencil (โคลเพนซิล)CTCPDPTƯ I-PHARBACO
Ocina (ออกซินา)China Chemical & Pharma
Oxacillin Bidiphar (ออกซาซิลลิน ไบดิฟาร์)Bidiphar
Oxacillin Sodium Flamingo (ออกซาซิลลิน โซเดียม ฟลามิงโก)Flamingo
Oxacilline Panpharma (ออกซาซิลลิน แพนฟาร์มา)Panpharma
Oxal (ออกซอล)Flamingo
Oxalipen (ออกซาลิเพน) Antibiotice SA
Oxatalis (ออกซาทาลิส)Vitrofarma S.A.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Oxacillin [2021,April17]
  2. https://www.drugs.com/cdi/oxacillin.html [2021,April17]
  3. https://www.mims.com/philippines/drug/info/oxacillin?mtype=generic [2021,April17]
  4. https://www.drugs.com/ppa/oxacillin.html [2021,April17]