ออกกำลังวันละ 30 นาที ต่อชีวีได้อีกโข (ตอนที่ 1)

วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาของผู้ที่มีพฤติกรรมนั่งติดที่นานๆ มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งนี้ผู้ใหญ่ที่นั่งนาน 11 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้น มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ภายใน 3 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับคนที่นั่งติดเก้าอี้ไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน

การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมทางร่างกายที่ช่วยส่งเสริมหรือรักษาสมรรถภาพทางร่างกายให้มีสุขภาพดี ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระบบหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular system) ช่วยลดน้ำหนักหรือรักษาน้ำหนักให้คงที่ และทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immune system) ช่วยป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) โรคเบาหวานชนิด 2 (Type 2 diabetes) และโรคอ้วน (Obesity)

นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาสุขภาพจิต ป้องกันภาวะซึมเศร้า (Depression) ส่งเสริมให้มีสรีระร่างกายที่ดูดีซึ่งมีผลให้เกิดความความภาคภูมิใจในตนเอง (Self esteem) มากขึ้น สถานส่งเสริมการดูแลสุขภาพมักเรียกการออกกำลังกายว่าเป็น “ยามหัศจรรย์” หรือ “ยาขนานวิเศษ” ที่ให้ประโยชน์มาก

โดยทั่วไปมีการแบ่งการออกกำลังกายออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. การออกกำลังกายประเภทยืดหยุ่น (Flexibility exercises) เช่น การยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  2. การออกกำลังกายประเภทแอโรบิค (Aerobic exercises) เป็นการออกกำลังกายที่ใช้พลังงานโดยอาศัยออกซิเจน ลักษณะเด่นของการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ก็คือ เป็นการออกกำลังกายที่ไม่ใช้ความรุนแรงมากนักในระยะเวลาที่ค่อนข้างยาว เช่น การวิ่งระยะยาวด้วยความเร็วปานกลาง การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ การเดิน การกระโดดเชือก การพายเรือ การวิ่ง การปีนเขา หรือ การเล่นเทนนิส ซึ่งมุ่งที่จะเพิ่มความทนทานของหลอดเลือดหัวใจ
  3. การออกกำลังกายประเภทอะแนโรบิค (Anaerobic exercises) เป็นการออกกำลังกายซึ่งใช้พลังงานแบบที่ไม่ใช้ออกซิเจน ตรงข้ามกับแอโรบิค เป็นไปเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในระยะสั้น กล่าวคือ มีความรุนแรงมากกว่าในระยะเวลาที่สั้นไม่เกิน 2 นาที เช่น การยกน้ำหนัก การแข่งวิ่งเร็วในระยะสั้น (Sprinting)

ทั้งนี้อาจสรุปได้ว่าการออกกำลังกายประเภทแอโรบิคและประเภทอะแนโรบิค มีความแตกต่างกันที่ระยะเวลาที่ออกกำลังกาย จำนวนความหนาแน่นของกล้ามเนื้อที่หดตัว และจำนวนพลังงานที่กล้ามเนื้อได้สร้างขึ้น

การออกกำลังกายช่วยรักษาสมรรถภาพร่างกาย รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม สร้างมวลกระดูก สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อเป็นไปด้วยดี ช่วยลดความเสี่ยงของการผ่าตัด และช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย การออกกำลังกายยังช่วยลดระดับคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ

การออกกำลังแบบแอโรบิคเป็นประจำอยู่เนืองๆ ช่วยป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ การออกกำลังกายก่อนอาหารสามารถลดน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ดีกว่าการออกกำลังกายหลังอาหาร ตามสถิตขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) กล่าวว่า หากขาดการออกกำลังกาย จะทำให้เป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวานได้ร้อยละ 17 พลัดหกล้มในผู้สูงอายุร้อยละ 12 และเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ร้อยละ 10

แหล่งข้อมูล:

  1. “นั่งนาน” เสี่ยงตายก่อนเวลาอันควร http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20120404/445330/นั่งนานเสี่ยงตายก่อนเวลาอันควร.html [April 12, 2012].
  2. Physical exercise. http://en.wikipedia.org/wiki/Exercise [April 12, 2012].
  3. Aerobic exercise. http://en.wikipedia.org/wiki/Aerobic_exercise [April 12, 2012].
  4. Anaerobic exercise. http://en.wikipedia.org/wiki/Anaerobic_exercise [April 12, 2012].