อย่าเขย่าหนูนะ หนูกลัวจริงๆ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

อย่าเขย่าหนูนะ-3

และแม้จะเป็นการเขย่าทารกเพียงช่วงสั้นๆ แต่ก็สามารถเป็นสาเหตุให้สมองเด็กถูกทำลายได้ ซึ่งก็มีเด็กเป็นจำนวนมากที่เสียชีวิตจากกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า ส่วนที่รอดชีวิตก็มักจะมีอาการดังต่อไปนี้ไปตลอดชีวิต เช่น

  • ตาบอดบางส่วนหรือตาบอดทั้งหมด
  • มีพัฒนาการที่ช้า มีปัญหาด้านการเรียนรู้หรือพฤติกรรม
  • ความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual disability)
  • สูญเสียการได้ยิน
  • มีปัญหาเรื่องการพูด ความจำ
  • ชัก (Seizure disorders)
  • สมองพิการ (Cerebral palsy)

สำหรับการป้องกันกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า อาจทำได้ด้วยการที่พ่อแม่มือใหม่เข้าคอร์สดูแลทารก ซึ่งจะสามารถทำให้พ่อแม่เข้าใจวิธีการดูแลได้ดีขึ้น เช่น อันตรายของการเขย่าทารก ควรทำเช่นไรเมื่อเด็กร้องไห้ไม่หยุด วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง เป็นต้น

นอกจากนี้ หากเด็กร้องไม่หยุด พ่อแม่อาจต้องหาเทคนิควิธีในการทำให้เด็กหยุดร้อง เช่น

  • ให้แน่ใจว่าทารกต้องการอะไร แล้วสนองความต้องการนั้น เช่น หิว ง่วง ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เปียก
  • ดูว่ามีอาการป่วยอะไรหรือไม่ เช่น เป็นไข้ เหงือกบวม
  • อุ้มเด็กเดินไปเดินมา
  • ร้องเพลงหรือพูดกับเด็ก
  • ให้เด็กดูดจุกนมปลอม (Pacifier) หรือให้เด็กได้ยินเสียงของเล่น
  • พาเด็กไปนั่งรถเข็นเล่น
  • อุ้มเด็กไว้แนบอก
  • ให้เด็กอาบน้ำอุ่น
  • ตบหลังหรือถูหลังเด็กเบาๆ
  • ให้คนอื่นช่วยดูแลแทนเพื่อที่คุณจะได้หยุดพักเพื่อผ่อนคลายอารมณ์

หรืออาจลองใช้วิธี "Five S's" approach ดังต่อไปนี้

1. ทำเสียงชูวววส์ (Shushing) หรือเปิดเสียงรบกวนที่ไพเราะและน่าฟัง (White noise) ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงฝนตก เสียงลม เสียงสายน้ำ เสียงบรรยากาศในป่าไม้ เป็นต้น โดยเสียงเหล่านี้จะช่วยสร้างสมาธิ ลดความเครียด กล่อมให้เด็กหลับง่าย

2. ให้เด็กนอนหันข้างซ้าย (Side/stomach positioning) เพื่อช่วยเรื่องการย่อย

3. ให้เด็กดูดนม (Sucking)

4. ห่อตัวเด็กด้วยผ้า (Swaddling) เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย

5. แกว่งเบาๆ (Swinging gently) เช่น นอนในเปลแกว่ง นั่งเก้าอี้โยก เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Shaken baby syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/shaken-baby-syndrome/symptoms-causes/syc-20366619 [2018, January 4].
  2. Abusive Head Trauma? (Shaken baby syndrome). http://kidshealth.org/en/parents/shaken.html [2018, January 4].