อย่าเขย่าหนูนะ หนูกลัวจริงๆ (ตอนที่ 1)

อย่าเขย่าหนูนะ-1

กลายเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เมื่อเฟซบุ๊กโพสต์คลิปหญิงสาวใส่เสื้อสีขาวคล้ายเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ กำลังทำ “โยคะทารก” กับทารกน้อยวัยไม่กี่เดือน ด้วยการจับแขนเหวี่ยง จับขาห้อยหัว รวมถึงจับคอทารกแล้วยกขึ้น โดยมีความยาว 54 วินาที

ทันทีที่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปยังโลกโซเชียลฯ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนให้เหล่าคนมีลูกและไม่มีลูกออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแกว่งเด็กทารกแรกเกิดไปมาเช่นนี้ เพราะอาจทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็นโรค "Shaken Baby Syndrome"

ด้าน พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด เผยว่า จากคลิปที่กำลังเป็นกระแสอยู่ขณะนี้ กรณีที่มีผู้หญิงจับเด็กทารก ดึงคอ เหวี่ยงแขน ห้อยขา ในลักษณะผาดโผน หนำซ้ำโลกออนไลน์ยังพากันบอกว่าการกระทำเช่นนั้นคือ การทำโยคะทารก หรือโยคะเด็ก

พญ.สุธีรา กล่าวว่า การกระทำนั้นไม่เรียกว่าโยคะ แต่เรียกว่าการทารุณกรรมเด็กมากกว่า ถ้าคนที่เขาศึกษาทางด้านโยคะมาอย่างแท้จริง เมื่อมาเห็นคลิปนี้คงจะร้องเสียงหลง เพราะการเล่นโยคะจะเป็นการค่อยๆ เล่น ค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อ ไม่มีการผาดโผน ดังนั้นการกระทำที่เหมือนในคลิปบอกได้เลยว่าไม่มีประโยชน์อะไรกับเด็กเลย มีแต่อันตราย

พญ.สุธีรา ยังกล่าวอีกว่า ตรงส่วนที่ยึดระหว่างศีรษะกับสมองเด็กไว้จะเปราะบาง ดังนั้นหากมีแรงกระทบกระเทือนแรงๆ อาจจะฉีกขาด ส่งผลถึงสมอง ทำให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงจอประสาทตาของเด็กก็มีโอกาสที่จะหลุดลอก ทำให้เด็กตาบอดได้ และหากทำแล้วเด็กอาจหลุดมือตกจากที่สูง หรือว่าตามเอ็นข้อต่อ กระดูก ชิ้นส่วนต่างๆ มีเอ็นฉีกขาด หรือข้อต่อหลุดโดยเฉพาะบริเวณข้อศอก เนื่องจากอวัยวะส่วนนี้ของเด็กยังไม่แข็งแรงดี

สำหรับอุบัติเหตุในเมืองไทยที่พบส่วนใหญ่มักเกิดจากเด็กพลัดตกจากที่สูง เพราะเด็กบางคนวัยประมาณ 3-4 เดือนเริ่มพลิกคว่ำ พลิกหงาย เวลาที่พ่อแม่เปลี่ยนผ้าอ้อม และละสายตาไปหยิบของ อาจทำให้เด็กตกจากที่สูงได้ รวมถึงอุบัติเหตุต่างๆ บนท้องถนน เช่น การไม่ให้เด็กนั่งคาร์ซีท หรือให้เด็กนั่งคาร์ชีทไม่ถูกวิธี เป็นต้น

พญ.สุธีรายังฝากบอกถึงพ่อแม่ที่มีลูกน้อยอีกว่า อย่าไปหลงเชื่อการกระทำดังเช่นในคลิป เพราะเป็นการขี้โม้ ที่ประกาศสรรพคุณว่าหากทำเช่นนี้แล้วจะช่วยให้เลือดใหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้ดี ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย เพราะวิธีการแบบนี้ไม่มีงานวิจัยอะไรออกมารองรับ ใครอยากจะพูดอะไรก็พูด แล้วพ่อแม่ก็หลงเชื่อไปเอง

ซึ่งการทำเช่นนี้มีที่มาจากรัสเซีย คือ พ่อแม่รัสเซียกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ทำเช่นนี้แล้วดีกับเด็ก เลยจับเด็กเหวี่ยงไปมาอ้างว่าดีกับเด็ก แล้วก็แพร่ระบาดไปหลายๆ ประเทศทั่วโลก ส่วนที่ญี่ปุ่นก็มีพวกองค์กรอิสระที่ตั้งมาเผยแพร่การเหวี่ยงเด็กแบบนี้ ตอนปี พ.ศ.2557 มีเด็กตายไปคนหนึ่งจากเลือดออกในสมองกับอวัยวะภายในล้มเหลวแบบว่าน่วมไปทั้งตัว

กลุ่มอาการทารกถูกเขย่า (Shaken Baby Syndrome / abusive head trauma) เป็นผลจากการที่เด็กถูกทำร้าย หรือได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากการเขย่าตัวเด็ก การตบศีรษะเด็ก การโยนเด็ก หรือการทำเด็กหล่นมือ ซึ่งทำให้เซลล์ประสาทของเด็กถูกทำลาย สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ผลก็คือสมองจะถูกทำลายอย่างถาวรหรือเสียชีวิตได้

ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือประมาณอายุ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีแนวโน้มว่าเด็กจะร้องมากที่สุด โดยร้อยละ 20-50 ของเด็กที่ถูกเขย่าจะมีอาการบาดเจ็บตามมา (Inflicted trauma)

แหล่งข้อมูล:

  1. 1. นั่น "โยคะเด็ก" หรือ "ทารุณทารก"? ไม่ช่วยให้เด็กฉลาด เสี่ยงสมองอักเสบ!!. https://mgronline.com/livelite/detail/9600000127266 [2018, January 2].
  2. 2. Shaken baby syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/shaken-baby-syndrome/symptoms-causes/syc-20366619 [2018, January 2].
  3. 3. Abusive Head Trauma? (Shaken baby syndrome). http://kidshealth.org/en/parents/shaken.html [2018, January 2].
  4. 4. Shaken Baby Syndrome (Abusive Head Trauma). https://www.medicinenet.com/shaken_baby_syndrome_abusive_head_trauma/article.htm [2018, January 2].