อย่าตกใจ ไข้หวัดหมู (ตอนที่ 4)

อนุสนธิข่าวจากวันก่อน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าไทยมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ฉีดให้ประชาชนกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงป่วยเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะผู้ที่โรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวาย โรคเลือด และโรคมะเร็ง นอกเหนือจากเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ [ในกรณีโรคแทรกซ้อน]

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ระบุว่าอาการป่วยของผู้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะไม่แตกต่างจากผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดทั่วๆ ไป ซึ่งอาจมีอาการไข้ขึ้นสูง ไอ ปวดศีรษะ เจ็บตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ หนาวสั่น ปวดเมื่อย และคัดจมูก ส่วนอาการท้องร่วง อาเจียนและอาการทางประสาทอาจมีการรายงานในผู้ป่วยบางกรณี

ผู้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากโรคแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบลงมา เด็กซึ่งมีอาการทางประสาท สตรีมีครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 เดือนก่อนคลอด) และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหืด โรคเบาหวาน โรคน้ำหนักตัวเกิน โรคหัวใจ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตัวเลขจาก CDC ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกามากกว่าร้อยละ 70 คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว

การศึกษาของ CDC เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 พบว่า เด็กไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส A H1N1 เลย แต่ในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พอจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคอยู่บ้าง แต่ไม่มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์นี้ในเด็ก ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 18 – 64 ปี มีการสร้างสารภูมิต้านทาน 6 – 9% และผู้ที่อายุสูงกว่านั้นมีการสร้างสารภูมิต้านทาน 33%

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 CDC รายงานว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะติดต่อในเด็กซึ่งป่วยเรื้อรังมากกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลตามปรกติ และจากจำนวนเด็กซึ่งเสียชีวิตจนถึงปัจจุบัน เกือบ 2 ใน 3 เคยมีความผิดปรกติทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ จึงนับเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนได้

CDC แนะนำให้ผู้ป่วยไปรับการรักษากับแพทย์โดยด่วน หากมีอาการแสดงเตือนฉุกเฉิน" (Emergency warning sign) ในเด็กและทารก ดังต่อไปนี้: หายใจถี่หรือหายใจลำบาก ตัวเขียว ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ปลุกไม่ตื่นหรือไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง รู้สึกหงุดหงิดจนเด็กไม่อยากถูกอุ้ม มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการดีขึ้นแล้วครั้งหนึ่งแต่กลับเป็นอีกโดยมีไข้และไออย่างรุนแรง มีไข้และมีผื่น ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ และร้องไห้ไม่มีน้ำตาไหล

ส่วนสัญญาณเตือนฉุกเฉินในผู้ใหญ่ ได้แก่ หายใจลำบากหรือหายใจกระชั้น เจ็บ ปวด หรือรู้สึกอึดอัดบริเวณอกหรือท้องน้อย อาการเวียนศีรษะเฉียบพลัน มีอาการสับสน อาเจียนอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และร่างกายมีอุณหภูมิต่ำ

ปัจจุบันนี้ ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของการแสดงอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย แต่ในกรณีที่รุนแรง ผู้ป่วยมักจะเริ่มจากมีอาการทรุดลงราว 3 – 5 วัน หลังจากเริ่มสังเกตเห็นอาการของโรค และสุขภาพของผู้ป่วยจะทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากมักจะประสบกับความล้มเหลวของระบบหายใจ ภายใน24 ชั่วโมง ซึ่งต้องการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (Intensive care unit: ICU) อย่างเร่งด่วน และต้องการเครื่องช่วยหายใจ ส่วนอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น อาจได้แก่กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขั้นรุนแรง (Fulminant myocarditis) และภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. ชี้หวัดใหญ่ 2009 ในเม็กซิโก ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ยันคนไทย 50% มีภูมิคุ้มกัน http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000010708 [2011, January 30].
  2. การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 http://th.wikipedia.org/wiki/การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่_2009 [2011, January 30].