อย่าตกใจ ไข้หวัดหมู (ตอนที่ 3)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวานซืน กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย โรคไข้หวัดใหญ่โดยรวมทั้งสายพันธุ์ตามฤดูกาลและสายพันธุ์ 2009 ในปี 2554 พบผู้ป่วยทั้งหมด 56,149 ราย เสียชีวิต 7ราย แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลง โดยในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 พบผู้ป่วย 2,852 ราย เดือนธันวาคม 2554 พบผู้ป่วย 1,740 ราย และในเดือนมกราคม 2555 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยเพียง 495 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ในสหรัฐอเมริกา ชี้แจงว่าผู้ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2500 จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานบางอย่างต่อไข้หวัดใหญ่ในหมู (Swine flu) กล่าวคือในผู้สูงอายุ จะพบว่ามีสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่สามารถต่อสู้กับไวรัส A H1N1 จากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 CDC อธิบายว่า การติดเชื้อ A H1N1 ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดอาการไม่รุนแรง เพียงมีลักษณะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แม้จะมีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก การฟื้นตัวของผู้ป่วยก็ค่อนข้างเร็ว และการเสียชีวิตจนถึงปัจจุบันเป็นเพียงตัวเลขน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

อาทิ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2552 ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ได้แพร่กระจายในสหรัฐอเมริกา จนมีการติดต่อ 1 ใน 6 ของชาวอเมริกัน โดยในจำนวนผู้ป่วย มีอยู่ 200,000 รายที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน แม้ผู้ติดเชื้อ A H1N1 ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงมากกว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Maryland ผู้ได้ผสมไข้หวัดใหญ่ในหมูกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สรุปผลว่า ไข้หวัดใหญ่ในหมูไม่น่าจะมีอันตรายไปกว่านี้แล้ว

การวินิจฉัยและยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต้องตรวจเยื่อซับคอหอยส่วนจมูกหรือคอหอยส่วนปากจากผู้ป่วย โดยการทดสอบในเวลาจริงของขบวนการสังเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอในหลอดทดลอง ที่เลียนแบบในสิ่งมีชีวิต (Real-time polymerase chain reaction: RT-PCR) ซึ่งสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่ A H1N1 จากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้

อย่างไรก็ตาม ผู้มีอาการของไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นจะต้องทดสอบด้วย RT-PCR เสมอไป เนื่องจากตามปรกติแล้ว ผลการทดสอบมักจะไม่กระทบต่อแนวทางการรักษาของแพทย์แต่อย่างใด CDC แนะนำให้ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจเฉพาะผู้ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพราะต้องสงสัยว่าติดโรคไข้หวัด สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องเท่านั้น

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กล่าวว่า การจำกัดการเดินทางของประชากรนั้นไม่อาจกระทำได้ และแต่ละประเทศควรมุ่งความสนใจไปยังการบรรเทาผลกระทบของไวรัสแทน สายการบินส่วนใหญ่ได้ดำเนินมาตรการรับมือที่แน่นอนรวมทั้งการตรวจดูผู้โดยสารซึ่งมีอาการของไข้หวัดใหญ่ อาศัยเครื่องกรองอากาศภายในเครื่องบินและการทำความสะอาดห้องโดยสาร เพื่อทำให้แน่ใจว่าปราศจากเชื้อโรคในเครื่องบิน

สถาบันการศึกษาได้รับคำแนะนำให้จัดให้ผู้มีอาการไข้หวัดใหญ่อยู่ในห้องต่างหากเพื่อรอกลับบ้านและให้ผู้ป่วยสวมใส่หน้ากากผ่าตัด (Surgical mask) หรือหน้ากากอนามัยเพื่อควบคุมโรค แต่ CDC มิได้แนะนำให้ปิดสถาบันการศึกษา ส่วนการรับมือในที่ทำงาน พนักงานควรพิจารณาและติดต่อสื่อสารเฉพาะเป้าหมายของตน เพื่อลดการติดเชื้อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ป้องกันผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่จากการติดเชื้อ A H1N1 เพื่อรักษาการดำเนินการทางธุรกิจและลดผลกระทบต่อผู้ที่ติดต่องานด้วย ส่วนการใช้หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอย่างสูง และถือเป็นมารยาทสำหรับผู้ที่ป่วยจะสวมหน้ากากเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. ชี้หวัดใหญ่ 2009 ในเม็กซิโก ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ยันคนไทย 50% มีภูมิคุ้มกัน http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000010708 [2011, January 29].
  2. การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 http://th.wikipedia.org/wiki/การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่_2009 [2011, January 29].