อย่าตกใจ ไข้หวัดหมู (ตอนที่ 2)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวานนี้ กระทรวงสาธารณสุขประเทศเม็กซิโกรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 จำนวน 573 ราย และมีรายงานพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 300 ราย ในช่วงวันที่ 19 มกราคม 2555 นอกจากนี้ยังมียอดผู้เสียชีวิตจำนวน 9 ราย โดยสัดส่วนการพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ของเม็กซิโก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 นี้ พบได้มากถึงร้อยละ 90 ของผู้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ทั้งประเทศ

แม้ว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหคม พ.ศ. 2553 องค์การอนามัย (World Health Organization: WHO) ออกมาประกาศว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 หรือ คือสายพันธ์ A H1N1 ในระดับโลกได้สิ้นสุดลง แต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554 WHO ได้ประกาศเตรียมความพร้อมของการรับมือกับโรคระบาดสายพันธุ์นี้อีกครั้งหนึ่งสำหรับทวีปอเมริกา (เหนือและใต้) โดยเฉพาะย่าน Chihuahua ในประเทศเม็กซิโก ที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่วัคซีนสำหรับ H1N1 ซึ่งผลิตในรัฐแคลิฟอร์เนียตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 ก็กำลังเสื่อมประสิทธิผลในปี พ.ศ. 2554

ในต้นปี พ.ศ. 2519 มีการพบว่า ไข้หวัดหมู A (H1N1) หรือ Swine flu เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของทหาร 13 ราย และตาย 1 ราย ที่ประสบปัญหาหายใจลำบากอย่างรุนแรง ณ ค่ายทหารแห่งหนึ่งในรัฐนิวเจอร์ซี การทดสอบย้อนหลังของน้ำเหลืองในเลือด (Serologic test) แสดงให้เห็นว่า มีทหารติดเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้ถึง 230 ราย แต่ไม่ทราบสาเหตุของการระบาดในค่ายทหาร และยังไม่ทราบความสัมพันธุ์ของสายพันธุ์นี้กับหมูในเวลานั้น

ไข้หวัดในประเทศรัสเซีย ระหว่างปี พ.ศ. 2520 – 2521 ที่มีสาเหตุจากเชื้อ A H1N1 ได้ระบาดในบรรดาเด็กๆ และหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปี เนื่องจากสายพันธุ์ที่คล้ายคลึงกันได้เคยระบาดระหว่างปี พ.ศ. 2490 – 2500 ทำให้ผู้ใหญ่ชาวรัสเซียส่วนมากได้มีภูมิคุ้มกันสูงอยู่ในตัว

ในช่วงที่ไข้หวัดหมูระบาดในปี พ.ศ. 2552 มีการค้นพบว่าเชื้อไวรัส A ในตัวผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา เกิดจากการรวมตัวของ 4 สายพันธุ์ กล่าวคือจากไข้หวัดหมูในทวีปอเมริกาเหนือ ไข้หวัดนกในทวีปอเมริกาเหนือ ไข้หวัดในคน และไข้หวัดหมูที่มักพบในเอเชียและยุโรป จนเกิดเป็นสายพันธุ์ย่อย H1N1

การศึกษาลักษณะของจีน/ยีน (Gene) ในเบื้องต้น พบว่า บางสายพันธุ์คล้ายคลึงกับไวรัสไข้หวัดหมู ที่พบในสหรัฐอเมริการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 และบางสายพันธุ์ของไข้หวัดนี้ก็พบมากในหมูในยุโรป แม้แต่ยีนของไข้หวัดหมูอเมริกัน ก็ยังเกิดจากการรวมตัวของไข้หวัดหมู ไข้หวัดนก และไข้หวัดในคน และแม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันการแพร่เชื้อในคนหรือในหมู แต่ก็ไม่มีระบบเฝ้าระวังระดับชาติในสหรัฐอเมริกา เพื่อค้นหาการแพร่ระบาดในหมู ในช่วงเวลานั้น

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 ก็เกิดการระบาดของเชื้อ A H1N1 ในเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา จนมีผู้ติดเชื้อถึง 2,099 รายในเวลาเพียง 1 เดือนให้หลัง และเริ่มลาม ไป 214 ประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) และมีผู้เสียชีวิต18,138 ณ วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ราย ตามรายงานของ WHO ซึ่งต้องออกมาประกาศเตือน ยกระดับความรุนแรงเป็นขั้นที่ 6 ของการเฝ้าระวังภัย และเป็นครั้งแรกในระดับโลก ตั้งแต่ไข้หวัดนกระบาดในฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2511

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Barack Obama ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า A H1N1 เป็นภาวะฉุกเฉินระดับชาติ แม้ว่าผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในรัฐนิวเจอร์ซี่ ในเวลาต่อมา แสดงว่า 74% ของผู้รับการสำรวจไม่กังวลมากหรือไม่กังวลเลยเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัส A H1N1

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ชี้หวัดใหญ่ 2009 ในเม็กซิโก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000010708 [2011, January 28].
  2. 2009 A (H1N1) Pandemic. http://en.wikipedia.org/wiki/Influenza_A_virus_subtype_H1N1 [2011, January 28].