ลมชัก:อย่างที่ไม่ควรทำในผู้มีอาการชัก

อย่างที่ไม่ควรทำในผู้มีอาการชัก

การดูแลสุขภาพตนเองให้ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ ผู้มีอาการชักนั้นก็ต้องใช้ชีวิตเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ก็มีข้อควรระวัง และข้อห้ามในการทำกิจกรรมบางกิจกรรม ดังนี้

  1. การขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ถ้ายังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ดี อย่างน้อยต้องควบคุมไม่ให้มีอาการชักติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือน การควบคุมอาการชักได้นานติดต่อกัน 12 เดือนจะมีโอกาสเกิดการชักซ้ำประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น
  2. การเล่นกีฬาผาดโผน เช่น กีฬาที่มีการปะทะกัน รักบี้ ชกมวย กีฬาผาดโผน เช่น ปีนหน้าผา เจ็ตสกี ขับรถแข่ง ดำน้ำลึก เป็นต้น
  3. ทานยากันชักเฉพาะวันที่มีอาการชักเท่านั้น การทานยากันชักที่ถูกต้อง คือ ต้องทานยากันชักทุกวันต่อเนื่องนานประมาณ 3-5 ปี โดยต้องไม่มีอาการชักติดต่อกันนานประมาณ 2 ปี แพทย์จึงค่อยๆ ลดยากันชักลงอย่างช้าๆ การทานยากันชักเฉพาะวันที่มีอาการชัก ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้
  4. การปรับเปลี่ยนขนาดหรือวิธีการทานยากันชักเอง ที่พบบ่อยคือ การทานยากันชักเพิ่มทุกครั้งที่ชัก การทานยาเพิ่มหลังการชัก การทานยากันชักแล้วเกิดผลข้างเคียง จึงลดขนาดยากันชักลงเอง หรือหยุดยากันชักเอง ถูกต้องแล้วควรต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนชนิดของยา หรือขนาดของยากันชัก ยกเว้นการแพ้ยากันชักชนิดรุนแรง หายใจไม่ออก ผิวหนังลอกแบบรุนแรง
  5. ซื้อยากันชักทานเอง โดยไม่ได้พบแพทย์เลย เนื่องจากโรคลมชักต้องทานยากันชักนานต่อเนื่องหลายปี จึงทำให้เกิดปัญหาการติดตามการรักษาไม่สม่ำเสมอ เพราะไม่สะดวกในการพบแพทย์ จึงซื้อยาทานเอง และเมื่อเห็นว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็หยุดหรือปรับลดยาเอง ถูกต้องแล้วเราควรพบแพทย์สม่ำเสมอ ถ้าไม่สะดวกในการพบแพทย์ก็อาจให้แพทย์สรุปประวัติการรักษา เพื่อรักษาต่อใกล้บ้านได้ หรือขอพบแพทย์หลายๆ เดือนต่อครั้งก็ได้
  6. ทานสมุนไพรหรืออาหารเสริมร่วมกับยากันชัก เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาการตีกันระหว่างยากันชักกับสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการทานยากันชักกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร
  7. การดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง หรือครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม เพราะจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น ต้องหลีกเลี่ยงเด็ดขาด
  8. อดนอน นอนดึก พักผ่อนไม่พอ การทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดอาการชักได้ง่าย ส่งผลเสียต่อสุขภาพและผลการรักษาไม่ดี การอดนอน การพักผ่อนไม่พอเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ชักได้ง่ายและพบบ่อยที่สุด
  9. ปรุงอาหารด้วยเตาไฟ เตาแก๊ส เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้ เนื่องจากอาจเกิดอาการชักขณะปรุงอาหาร ควรเปลี่ยนมาปรุงอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ เป็นต้น
  10. การอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำและเสียชีวิตได้ ถ้ามีอาการชักขณะอาบน้ำ
  11. ลมชักรักษาให้หายได้ ไม่ลำบากและยากอย่างที่คิด