อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก: เมื่อต้อง...กลายเป็นผู้ป่วยโรคลมชัก

เรื่องนี้ ออยจะขอเล่าถึงความรู้สึกแรกที่ออยได้ทราบว่าตนเองเป็นโรคลมชัก อาจารย์สมศักดิ์บอกออยว่าอยากให้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนทั่วไป รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ได้เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยมากขึ้น

ออยได้เห็นผลตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองพร้อมๆกับอาจารย์ แค่เห็นคลื่นหน้าตาประหลาดเหมือนที่เคยเห็นในหนังสือเกี่ยวกับโรคลมชักถึงจะศึกษาเรื่องนี้มาไม่มากแต่ก็พอจะเดาได้ ตอนนั้นก็ตกใจมาก ยิ่งพออาจารย์บอกว่าออยเป็นโรคลมชัก ก็ถึงอึ้งและช็อกไปเลย ในหัวเหมือนมีคำถามมากมาย แต่ก็พูดไม่ออก อยากร้องไห้แต่น้ำตาก็ไม่ไหล ได้แต่นั่งนิ่งฟังอาจารย์พูดถึงเรื่องการรักษาต่อไป

ถ้าใครไม่เจอเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเองก็คงไม่เข้าใจ ยิ่งไม่ได้เตรียมตัว เตรียมใจมาก่อนด้วย ต่อมาก็เริ่มเกิดคำถามว่า “นี่เราเป็นโรคลมชักจริงๆหรือ อาจารย์อ่านผลตรวจผิดหรือเปล่า หรือไปเอาผลของคนอื่นมาหรือเปล่า ”

หลังจากนั้นก็เครียดมาก ร้องไห้ฟูมฟายพักใหญ่ ว่าทำไมเราต้องมาเป็นแบบนี้ แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร จะรักษาหายไหม จะเรียนจบไหม จะเป็นหมอได้ไหม พ่อแม่จะลำบากมากขึ้นไหม คำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัว คิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วก็เกิดความกลัวที่ต้องเผชิญกับปัญหาในอนาคต จนบางครั้งเคยคิดอยากจะหนีไปไกลๆ หรือถึงกับคิดสั้นก็เคยมี (แต่ยังไม่กล้าทำจริงนะคะ เพราะกลัวพ่อแม่จะเสียใจ)

ช่วงนั้นออยเพิ่งขึ้นปี 4 ที่ถือว่าเป็นปี่ที่หนักที่สุด เพราะจะได้ตรวจและทำงานกับคนไข้จริงๆ และต้องอยู่เวร ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด นอนดึก มีปัจจัยที่กระตุ้นอาการชักหลายอย่าง เลยควบคุมอาการชักไม่ดี อาจารย์แนะนำให้ออยลาพักการเรียนเพื่อรักษาและปรับระดับยา ก็รู้สึกแย่มากๆชีวิตนี้ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องลาพักการเรียนเลย เกลียดตัวเองมากที่เป็นแบบนี้ บางทีก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ชีวิตในช่วงนั้นเหมือนดำดิ่งอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะกลับออกมาได้เมื่อไหร่

แต่โชคดีที่คลินิกโรคลมชักที่นี่ มีการจัดกิจกรรมกลุ่มช่วงเช้าวันทำการของคลินิก (เช้าวันจันทร์) ที่ผู้ป่วยจะได้มานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระบายความรู้สึก พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาในชีวิตของแต่ละคนและใครมีวิธีแก้ไขอย่างไร ซึ่งพี่พยาบาลที่นี่เคยทำวิจัยมาแล้วว่า การที่ผู้ป่วยโรคลมชักได้เข้ากิจกรรมกลุ่มกับผู้ป่วยด้วยกัน ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น และยังมีทัศนคติที่ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย

และนี่คือสาเหตุที่ผู้ป่วยหลายๆ คนได้เห็นออยเข้ากิจกรรมกลุ่มทุกสัปดาห์ในช่วงที่ออยลาพักการเรียนค่ะ