อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ชัก...ที่ควรทราบ

เมื่อพูดถึงคำว่าชัก ทุกคนจะคิดถึงภาพที่คนมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว กัดฟันแน่น น้ำลายฟูมปาก ถูกเรียกแล้วไม่รู้สึกตัว จึงไม่แปลกใจที่ทุกคนจะกลัวการชักเป็นชีวิตจิตใจ ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก แต่จริงๆแล้ว อาการชักไม่ใช่มีเพียงรูปแบบข้างต้นเท่านั้น ยังมีการชักอีกหลายรูปแบบ ผมจะขอกล่าวถึงการชักแต่ละชนิดเพื่อให้ท่านได้เข้าใจ

การชัก คือ ความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ 1-3 นาที ถ้าการชักนั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีการกระตุ้นตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป เรียกว่า โรคลมชัก

การชักมีสาเหตุหลากหลายขึ้นกับกลุ่มอายุ ดังนี้

  1. กลุ่มทารกแรกเกิด สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ภาวะขาดออกซิเจนหรือการกระทบกระเทือนที่ศีรษะระหว่างคลอดและขาดวิตามินบี 6
  2. กลุ่มเด็ก สาเหตุที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อในสมอง
  3. กลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ สาเหตุที่พบบ่อยคือ อุบัติเหตุที่ศีรษะและโรคเนื้องอกในสมอง
  4. กลุ่มผู้สูงอายุ สาเหตุที่พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดสมองและโรคเนื้องอกสมอง

ทั้งนี้ อาการชักนั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นกับตำแหน่งของรอยโรคว่าอยู่ในสมองส่วนใด สมองส่วนนั้นมีหน้าที่อะไร สมองของคนเราประกอบด้วย 1.สมองส่วนหน้า 2.สมองส่วนขมับ 3.สมองส่วนหลัง และ 4.สมองน้อย

  • สมองส่วนหน้า มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อขา การปัสสาวะและการควบคุมพฤติกรรมว่าควรแสดงออกเมื่อใด อย่างไร
  • สมองส่วนขมับ มีหน้าที่เกี่ยวกับการจำ ความคิด และแสดงออกพฤติกรรมต่างๆ
  • สมองส่วนหลัง มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว และการเคลื่อนไหว

ดังนั้น ถ้ามีรอยโรคอยู่สมองส่วนใดและมีอาการชักเกิดขึ้นก็จะมีความผิดปกติของหน้าที่ของสมองส่วนนั้น ผู้ป่วยก็จะแสดงอาการชักออกมาในรูปแบบต่างๆ

เพื่อให้ง่ายในการเข้าใจว่าการชักนั้นมีรูปแบบใดบ้าง ทางการแพทย์แบ่งการชักเป็น 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้

  1. การชักเฉพาะที่
  2. การชักทั้งตัว
  • การชักเฉพาะที่ หมายความว่า ผู้ป่วยมีอาการชักเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขน ขา ใบหน้า เป็นต้น ประกอบด้วยการชักเฉพาะที่แบบมีสติ การชักเฉพาะที่แบบขาดสติ การชักเฉพาะที่ตามตัวและเกิดการลามของการชักเป็นการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
  • การชักทั้งตัว หมายความว่า ผู้ป่วยมีอาการชักทั้งตัวและขาดสติ ประกอบด้วย การชักเหม่อ นั่งนิ่ง ชักเกร็ง ชักกระตุก ชักเกร็งกระตุก ชักตัวอ่อน และชักสะดุ้ง
  • ชักเฉพาะที่แบบมีสติ ตัวอย่างเช่น การกระตุกแขน ขา หรือใบหน้า รวมถึงการชาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นระยะเวลาสั้น อาการจะเป็นๆหายๆ ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการจะมีสติสมบูรณ์ดี สาเหตุที่พบบ่อยในภาคอีสานคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และพยาธิตืดหมูขึ้นสมอง
  • ชักเฉพาะที่แบบขาดสติ ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มต้นส่วนใหญ่ คือ อาการปั่นป่วนในท้อง เคี้ยวปากร่วมกับถูมือไปมา หลังจากนั้นจะมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น เดินไปเดินมาหรือทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว
  • ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยเริ่มด้วยอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติ ต่อจากนั้นการชักจะกระจายไปทั่วตัว จนผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและขาดสติ
  • ชักเหม่อ นั่งนิ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับนั่งเหม่อ นิ่งเป็นระยะ เวลาสั้นๆ เรียกไม่รู้สึกตัว เป็นระยะเวลาไม่นานประมาณ 15-45 นาที พบบ่อยในเด็กวัยเรียนหนังสือ เป็นการชักชนิดที่ผมอยากให้ผู้ปกครองและคุณครูทราบ เพราะปัจจุบันครูส่วนใหญ่ไม่ทราบการชักแบบนี้ เด็กจะถูกครูสังเกตว่านั่ง นิ่ง เหม่อลอยบ่อยๆ เรียกไม่ตอบ ครูมักเข้าใจว่าเด็กไม่สนใจเรียน กว่าครูจะรู้ว่าเด็กมีอาการชักก็เป็นมานานจนผลการเรียนตกต่ำ
  • ชักเกร็ง ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งของแขน ขา ทั้งตัวเป็นระยะเวลาสั้น โดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ร่วมกับมีอาการขาดสติ
  • ชักกระตุก ผู้ป่วยจะมีอาการเช่นเดียวกับอาการชักเกร็งเพียงแต่จะเป็นอาการชักกระตุก ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว การชักชนิดนี้ทุกคนจะรู้จักเป็นอย่างดี เรียกว่าการชักแบบลมบ้าหมู ผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็งเริ่มต้นก่อน ต่อมาจะมีอาการร้องเสียงดัง ต่อจากนั้นจะมีอาการชักกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยส่วนน้อยจะมีการกัดฟันแน่นหรือกัดลิ้นร่วมด้วย โดยเป็นการกัดด้านข้างของลิ้น ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ ผู้ป่วยบางรายชักนาน ใบหน้าอาจมีสีเขียวคล้ำได้ การชักนั้นส่วนใหญ่จะหยุดเองภายใน 1-3 นาที จึงมักไม่มีความจำเป็นต้องให้การักษาใดๆ
  • ชักตัวอ่อน ผู้ป่วยจะมีอาการล้มลงทันที ไม่ว่าจะยืนหรือนั่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าเกิดในขณะเดินหรือยืนก็จะล้มลงกับพื้นทันที
  • ชักสะดุ้ง ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายผวา มีการสะดุ้งทั้งตัว 1 ครั้ง ซึ่งในขณะสะดุ้งจะมีอาการขาดสติร่วมด้วย มักพบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสในสมอง ผู้ป่วยตับวาย และผู้ป่วยไตวาย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาการชักนั้นมีหลายรูปแบบ ลักษณะสำคัญที่ต้องสงสัยว่าเป็นอาการชักหรือไม่ คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ อะไรก็ตามที่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นๆ หายๆ และทุกครั้งที่เป็นซ้ำ จะมีอาการคล้ายกัน