อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ชักจน...ชนป้อมตำรวจ

“คุณน้าครับเป็นอย่างไรบ้าง 1 เดือนที่ผ่านมา” เป็นประโยคที่ผมพูดเป็นประจำในการตรวจผู้ป่วยโรคลมชัก “ไม่ค่อยสบายครับคุณหมอ เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งขับรถชนป้อมตำรวจมาครับ” ผู้ป่วยตอบผม เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยครับสำหรับอุบัติเหตุทางการจราจรในผู้ป่วยโรคลมชักที่ขับรถเป็นประจำ

ผู้ป่วยรายนี้เป็นการชักชนิดเฉพาะที่แบบขาดสติ มีอาการไม่บ่อย 2-3 เดือน มีอาการ 1 ครั้ง ผู้ป่วยขับรถเป็นประจำ เพราะต้องไปทำงาน ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดอุบัติเหตุรถชน เพราะเกิดอาการชักขณะขับรถ คำถามของผู้ป่วยที่ถามผมเสมอว่า เป็นโรคลมชัก สามารถขับรถได้หรือไม่ คำตอบคือ ถ้ายังมีอาการชักที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ ก็ยังไม่ควรขับรถ เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเช่นผู้ป่วยรายนี้

การขับรถชนของผู้ป่วยโรคลมชักในประเทศไทยยังพบเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาในคลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์พบว่า 70 คน ใน 100 คนขับรถ และ 1 ใน 5 เคยเกิดอุบัติเหตุ โชคดีที่ยังไม่มีใครได้รับอุบัติเหตุรุนแรงถึงเสียชีวิต แต่ถ้าเราติดตามข่าวในหนังสือพิมพ์ จะพบว่า มีข่าวหลายครั้งที่ผู้ป่วยโรคลมชักเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต และยังทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นด้วย

ผู้ป่วยโรคลมชักต้องมีความระมัดระวังอย่างมากในการขับรถในประเทศอังกฤษมีกฎหมายห้ามผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ ถ้าเป็นการขับรถส่วนตัว ต้องควบคุมอาการได้ ไม่มีการชักอย่างน้อย 1 ปี และถ้าขับรถโดยสาร ต้องไม่มีอาการชักอย่างน้อย 5 ปี สำหรับประเทศไทยของเรายังไม่มีกฎหมายดังกล่าว

ผมคิดว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ถ้าไม่จำเป็นจริงๆไม่ควรขับรถ ถ้าขับรถก็ควรขับรถช้าๆไม่ควรขับเร็ว อยู่เลนซ้ายสุด ไม่ควรขับรถไกลและต้องทานยาส่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ถ้าวันไหนลืมทานยาต้องห้ามขับรถ

ภาครัฐต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ดีขึ้นและทั่วถึง ผมมีความเชื่อว่าถ้าระบบขนส่งมวลชนดี ผู้ป่วยโรคลมชักก็คงไม่อยากขับรถหรอกครับ