อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : อุบัติเหตุกับ...โรคลมชัก

เป็นที่ทราบกันดีว่าอุบัติเหตุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนไทย แล้วมีความเกี่ยวข้องกับโรคลมชักอย่างไรบ้าง

อุบัติเหตุมีความสัมพันธ์กับโรคลมชักทั้งที่เป็นเหตุและเป็นผลของโรคลมชัก สาเหตุของโรคลมชักที่พบในวัยรุ่นได้บ่อย คือ อุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น จากการดื่มเหล้าเมา ก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ เป็นเหตุให้เกิดโรคลมชักตามมา โรคลมชักเองก็เป็นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เพราะระวังผู้ป่วยชักจะมีอาการหมดสติและล้มลงกับพื้นจึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

อุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุดในขณะชัก ได้แก่ แผลถลอก ฟกซ้ำธรรมดามักไม่รุนแรง รองลงมา คือ ศีรษะแตก ฟันหัก อุบัติเหตุทางการจราจร เช่น รถชนกัน กระดูกหัก ข้อต่อเคลื่อนหลุด รวมทั้งน้ำร้อนลวก ไฟไหม้และจมน้ำ

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีสาเหตุโดยตรงจากการที่ผู้ป่วยหมดสติล้มลงทั้งยืน แต่มีบางอุบัติเหตุที่เกิดจากการช่วยเหลือของญาติหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์ขณะชัก เช่น การกดปั้มหน้าอก อาจก่อให้เกิดกระดูกซี่โครงหัก การกดยึดรั้งแขนขาผู้ป่วยไม่ให้ชัก ก่อให้เกิดภาวะกระดูกหักและข้อต่อเคลื่อนหลุดได้ การงัดฟัน งัดปากผู้ป่วย ก็ทำให้ฟันหัก ริมฝีปากฉีดขาด ผมมีผู้ป่วย 1 ราย ญาติช่วยกันงักปากผู้ป่วยจนฟันหัก พอผู้ป่วยฟื้นดีหาฟันที่หักไม่พบ ไปให้หมอตรวจเอกซเรย์พบฟันหักค้างคอที่หลอดลม ต้องส่องกล้องลงไปคีบเอาฟันออกมา

การเกิดอุบัติเหตุในผู้ป่วยโรคลมชักนั้น ผู้ป่วย 5 คน พบได้ 1 คน พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะไฟไหม้น้ำร้อนลวก เพราะผู้หญิงจะต้องทำอาหารอยู่กับของร้อนและเตาไฟ จึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่า

การป้องกันไม่ไห้เกิดอุบัติเหตุนั้นทำได้ไม่ยาก ถ้าเราเคร่งครัดในการทานยาสม่ำเสมอ หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น การอดนอน ดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงการทำงานบนที่สูงโดยลำพัง การอยู่คนเดียวก็ไม่ควร ไม่ควรทำกับข้าวด้วยเตาไฟ เตาถ่านหรือเตาแก๊ส ควรใช้เตาไมโครเวฟแทน ไม่ควรเล่นกีฬาที่มีการปะทะกัน หรือกีฬาผาดโผน ว่ายน้ำ ได้แต่ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด การดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง รักษาตนเอง รักครอบครัว ทุกอย่างก็หมดปัญหาครับ