อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ผมอยาก...ทานยานอก

ยานอกคืออะไร มียานอก-ยาในด้วยหรือ ผมขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ การผลิตยาต้นแบบของยากันชักแต่ละชนิดนั้นผลิตจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะการผลิตยาจนกว่าจะนำมาใช้ได้ทั่วไปนั้น ต้องผ่านขั้นตอนการศึกษาวิจัยตั้งแต่ในสัตว์ทดลอง ผู้ป่วยกลุ่มเล็กๆ และผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จนผ่านทุกขั้นตอนจึงมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยบริษัทที่ผลิตคิดค้นจะมีลิขสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของ โดยจะห้ามไม่ให้บริษัทอื่นๆ ผลิตยาแบบเดียวกันได้ เป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาของลิขสิทธิ์นั้นบริษัทยาอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือบริษัทยาในประเทศจะผลิตและจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่ายาของบริษัทแรกมาก ดังนั้นยานอกคือยาที่ผลิตโดยบริษัทที่คิดค้นยาตั้งแต่ต้น ส่วนยาในหมายถึงยาตัวเดียวกันผลิตโดยบริษัทอื่นๆภายหลัง โดยส่วนใหญ่คือ บริษัทภายในประเทศ

ยานอกมีอีกชื่อหนึ่งว่ายาต้นแบบ ข้อดีคือยาที่คิดค้นผลิตขึ้นมาและศึกษาวิจัยตั้งแต่ต้นเพื่อใช้รักษาโรค ศึกษาในผู้ป่วยจำนวนมากว่าได้ผลดีหรือไม่ อย่างไร มีผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง แต่ข้อเสีย คือ ราคาแพง ส่วนยาในนั้นเป็นยาที่ผลิตขึ้นภายหลังจากพ้นระยะเวลาของลิขสิทธิ์ไปแล้ว ข้อดี คือ ราคาถูกกว่ายานอกมาก ข้อด้อยคือคุณสมบัติของยาอาจจะไม่เทียบเท่ากับยานอก มาตรฐานการผลิต ในปัจจุบันมีการควบคุมให้ยาในต้องมีคุณสมบัติต่างๆ เหมือนกับยาต้นแบบหรือยานอก อนุญาตให้มีความแตกต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 20 เมื่อเทียบเท่ากับยานอกหรือยาต้นแบบ ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วยานอกกับยาในไม่มีความแตกต่างกันในด้านคุณสมบัติของยาในการรักษา มีหน่วยงานที่ควบคุมการผลิตยาในอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยยึดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

บางกรณีก็เกิดปัญหาขึ้น พบดังตัวอย่างของผู้ป่วยรายนี้ ผู้ป่วยโรคลมชักชายอายุประมาณ 30 ปี อาชีพรับจ้างย่างไก่ ผู้ป่วยถูกส่งตัวมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพราะควบคุมอาการชักไม่ได้ เมื่อผมประเมินแล้วพบว่าเป็นโรคลมชักชนิดชักเฉพาะส่วนของร่างกายขาดสติ ตรวจแม่เหล็กไฟฟ้าสมองไม่พบความผิดปกติ ได้รับการรักษาด้วยยากันชักยี่ห้อหนึ่งชนิดยาในประเทศ ผู้ป่วยทานยาสม่ำเสมอดีไม่มีปัจจัยกระตุ้นใดๆจึงตรวจวัดระดับยาในเลือดพบว่า ระดับยาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงได้เปลี่ยนยี่ห้อยาจากในประเทศเป็นยานอก หลังจากเปลี่ยนยาอาการหายดีเป็นปกติไม่มีอาการชัก จึงส่งตัวกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน หลังจากนั้น 1 เดือน ผู้ป่วยมาพบอีกครั้งด้วยอาการไฟไหม้ที่มือ 2 ข้าง เกิดอะไรขึ้นล่ะครับ หลังจากที่ผมส่งตัวผู้ป่วยกลับไปรักษาต่อใกล้บ้าน ทางโรงพยาบาลชุมชนได้เปลี่ยนยายี่ห้อที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาลเดิม ซึ่งเป็นยานอกเป็นยาในประเทศ เนื่องจากโรงพยาบาลใกล้บ้านมีเฉพาะยาในประเทศเท่นั้น หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีอาการชัก และที่เกิดแผลไฟไหม้เพราะมีอาการชักขณะยืนย่างไก่

ปัญหาผู้ป่วยคือ ควบคุมอาการชักได้ด้วยยานอก พอเปลี่ยนมาเป็นยาในประเทศจึงเกิดอาการชัก ดังนั้นถ้าผู้ป่วยควบคุมอาการชักได้ด้วยยานอกไม่ควรเปลี่ยนเป็นยาใน แต่ถ้าเริ่มต้นรักษาด้วยยาในประเทศแล้วควบคุมได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นยานอก