อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ชัก...กับสุรา

เป็นที่ทราบกันดีว่า สุราไม่มีผลดีต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทุกระบบ ไม่ว่า หัวใจ สมอง หลอดเลือด รวมทั้งโรคลมชักด้วย การดื่มสุรากับการชักนั้นมีความเกี่ยวข้องกันในหลายประการ

กรณีแรก การดื่มสุรามากๆจนเกิดโรคสุราเรื่อรัง ดังนั้นถ้าผู้ป่วยต้องการหยุดเหล้า และหยุดเหล้ากะทันหันทันที ก็อาจก่อให้เกิดอาการชักได้ หรือการดื่มเหล้าอย่างหนักติดต่อกัน ก่อให้เกิดอาการชักจากภาวะระดับแอลกอฮอล์เป็นพิษ กรณีนี้จะพบได้บ่อยช่วงใกล้ๆวันเข้าพรรษา เพราะคนที่ดื่มเหล้า จะมีการทิ้งทวนก่อนที่จะหยุดเหล้า ช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์

กรณีต่อมาคือ การดื่มเหล้าจนเมา เกิดอุบัติเหตุ รถชนกัน แล้วศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง เช่น กะโหลกศีรษะแตก เลือดออกในสมอง ก่อให้เกิดอาการชักได้ ซึ่งพบเป็นสาเหตุของการชักในวัยรุ่นได้ถึง 1 ใน 3

กรณีต่อมา เป็นสาเหตุของการควบคุมการชักไม่ได้ ซึ่งพบบ่อยมากคือ การที่ผู้ป่วยโรคลมชักดื่มเหล้า เหล้าไม่ใช่แค่เป็นปัจจัยการกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ง่ายเท่านั้น แต่เหล้ายังมีผลกระทบต่อการดูดซึม การเผาผลาญ และการขับออกของยา ทำให้ยาที่ทานออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ และอาจเกิดผลแทรกซ้อนจากยาได้ง่าย

กรณีสุดท้ายที่พบบ่อยมาก คือ ผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื่มเหล้ามักจะมีความสม่ำเสมอในการทานยาน้อยมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ผู้ป่วยเองก็ทราบว่า ทานยาร่วมกับดื่มเหล้าจะมีผลเสีย เมื่อการดื่มเหล้าเกือบทุกวัน จึงไม่ทานยาเลย บางรายก็อยากทานยาด้วย แต่เมาหลับไปก่อนที่จะทานยา ผู้ป่วยเมาเหล้าเป็นประจำให้หยุดเหล้าได้ แต่ก็ยังไม่หมดความพยายาม บางครั้งผมขอร้องผู้ป่วยว่า ถ้าไม่เลิกดื่มเหล้า ก็ทานยาผมเป็นกับแกล้มก็แล้วกัน

ผมอยากบอกเพื่อนแพทย์ทุกคนว่า การรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ต้องใจเย็นๆต้องมีความเมตตาและอดทนสูง ต้องหาโอกาสที่ดีในการแนะนำ ผมสังเกตว่าเมื่อผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นเรา ไว้ใจเรา เกรงใจเราเมื่อนั้นผู้ป่วยก็จะให้ความร่วมมือในการรักษา