อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ไข้ชัก เรื่องใกล้ตัว

เมื่อเอ่ยถึงอาการชัก ทุกคนก็กลัวไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคุณแม่จะรีบเอานิ้วมือของตนเอง ใส่ลงไปในปากของลูกที่กำลังชักจากไข้สูง เพราะกลัวลูกจะกัดลิ้น โดยไม่กลัวเจ็บหรือกลัวลูกจะกัดนิ้วตนเอง

อาการชักจากไข้สูงเป็นภาวะที่พบบ่อยประมาณร้อยละ 6-8 หรือเด็กๆ 15 คนที่มีอายุ 1-6 ปี จะพบอาการชักเมื่อมีไข้สูง 1 คน และมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้สูง หมายความว่าถ้ามีประวัติไข้ชักในครอบครัว โอกาสที่ลูกจะเป็นเหมือนพ่อ-แม่ก็สูงกว่าเด็กที่เกิดจากพ่อ-แม่ที่ไม่มีประวัติไข้ชัก พ่อ-แม่ทุกคนกังวลใจว่าถ้าลูกตนเองมีไข้ ก็กลัวลูกจะชัก ถ้าชักแล้วสมองของลูกจะได้รับการกระทบกระเทือน ลูกเราจะโง่ ลูกเราจะพิการหรือไม่ คำถามต่างๆมากมายเกิดขึ้น พ่อแม่จะถามแพทย์เวรทันทีที่ห้องตรวจแผนกฉุกเฉิน

ปัจจุบันคำถามต่างๆ เหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ ว่าเด็กที่มีอาการชักจากภาวะไข้ชักนั้นไม่มีอันตรายใดๆต่อสมองเลย มีการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด และมีข้อมูลครบถ้วนว่าเด็กที่เกิดภาวะไข้ชักนั้นไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ต่อสมองเลย การพัฒนาไอคิว อีคิว รวมทั้งความสามารถในการเรียนรู้ต่างๆ เสมือนเด็กทั่วๆไป บางการศึกษายังพบว่าเด็กที่เคยมีประวัติไข้ชักในวัยเด็กมีโอกาสประสบผลสำเร็จในชีวิตสูงกว่า เช่น สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกได้มากกว่าเด็กที่ไม่มีไข้ชัก ผมได้สอบถามนักศึกษาแพทย์ก็พบว่า ตอนเด็กเป็นไข้ชักจำนวนมาก

แต่ทำไมพ่อแม่ถึงกลัวลูกเป็นไข้ชักจะโง่กว่าเด็กทั่วไป ประเด็นนี้น่าสนใจอย่างมาก ผมได้มีโอกาสสอบถามพ่อแม่เด็กหลายคน พบว่าทุกคนจะได้รับการบอกกล่าวจากญาติผู้ใหญ่และเพื่อนบ้านว่าระวังอย่าให้ลูกชักเดี๋ยวลูกจะโง่ ซึ่งน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด ร่วมกับในอดีตแพทย์เองยังมีการให้ยากันชักในเด็กไข้ชัก และอาจให้คำแนะนำที่ไม่เหมาะสมต่อพ่อ-แม่ เนื่องจากความรู้ในอดีตยังไม่มีข้อมูลที่ดีพอ จึงส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดกันมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพ่อแม่ตกใจกลัว กังวลว่าลูกจะได้รับอันตรายจากการชัก จึงเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันบ่อยๆ ระหว่างพ่อ-แม่ที่รีบพาลูกมาห้องตรวจแผนกฉุกเฉินกับบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากแพทย์ พยาบาล ทราบดีว่าภาวะดังกล่าวไม่ฉุกเฉิน จึงอาจไม่ได้ให้การดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน แต่พ่อแม่ต้องการให้รักษาอย่างรีบด่วน จึงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันเป็นประจำ ซึ่งกรณีดังกล่าวแพทย์และพยาบาลต้องปรับการแสดงท่าทีและคำพูด เพื่อแสดงให้พ่อแม่เห็นว่าเราตระหนักและรับรู้ปัญหาของลูกเขาจริงๆต้องแสดงความมั่นใจว่าลูกเขาจะปลอดภัย และให้ความรู้ที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสมต่อไป

โดยส่วนตัวผมเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีลูกไข้ชักเป็นอย่างดี เพราะลูกชายผมก็เป็น ทุกครั้งที่ลูกชายผมมีไข้ทุกคนในบ้านจะวิตกกังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคุณยายและคุณแม่ ยิ่งกว่านั้นเมื่อลูกชายของผมชัก ภรรยาผมซึ่งเป็นหมอก็จะหาวัสดุงัดปากลูกชายหรือนำนิ้วมือตนเองใส่ในปากลูกเพื่อป้องกันการกัดลิ้น ถามว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น ทั้งที่มีความรู้อยู่ว่าไม่มีอะไรที่ต้องกลัว เหตุผลง่ายมากครับ คือ ความรัก ความห่วงใยที่มีต่อลูกนั้น มีอิทธิพลเหนือความรู้และสติที่มีอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านต้องเข้าใจพ่อแม่ทุกท่านที่อาจแสดงความห่วงใยหรือกังวล กรณีลูกเป็นไข้ชักมากเกินความเหมาะสม เพราะเหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้นกับใคร ก็คงยากที่จะเข้าใจ เช่นเดียวกับผมและภรรยา