อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : แนะนำตัว

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ผมหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า เป็นคนจังหวัดนครสวรรค์โดยกำเนิด เติบโตที่จังหวัดฉะเชิงเทราและมาเรียนจบแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อจากนั้นได้ฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาอายุรกรรม และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาประสาทวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่นเดียวกัน ผมมีความสนใจเป็นพิเศษในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักจึงได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ หลังจากจบการศึกษาที่ประเทศอังกฤษได้กลับมาปฏิบัติงานที่ขอนแก่นต่อ และได้คำแนะนำจากอาจารย์หมอ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ได้รวบรวมกลุ่มอาจารย์ผู้สนใจในการรักษา และศึกษาวิจัยโรคลมชัก จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่มศึกษาวิจัยโรคลมชัก เพื่อการตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2546 เป็นต้นมา

ทำไมผมจึงหันมาเป็นหมอศึกษาโรคลมชัก เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2543 ในภาคอีสานมีหมอผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทเพียง 7 คนเท่านั้นที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคระบบประสาท และที่สำคัญไม่มีหมอดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักโดยเฉพาะ ผมจึงตัดสินใจไปศึกษาดูงานด้านโรคลมชักที่ประเทศอังกฤษโดยการแนะนำของท่านอาจารย์หมอ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผมโชคดีมากๆที่ได้มีโอกาสศึกษาดูงานกับศาสตราจารย์นายแพทย์ไซม่อน โชว่อน ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ชี่ยวชาญด้านโรคลมชักที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศอังกฤษ ทวีปยุโรป และของโลก

ผมเป็นคนหนึ่งที่โชคดีได้เรียนรู้วิธีการทำงานและการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของอาจารย์หมอหลายๆท่านจากภาควิชาอายุรศาสตร์ ทำให้ผมมีความอดทนในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยในคลินิกโรคลมชักมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ผมจึงได้ประสบการณ์อย่างมากในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก นอกจากนี้ผมยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักตามโรงพยาบาลต่างๆในภาคอีสาน ยิ่งได้รับประสบการณ์อันมีค่ามากขึ้น

วันหนึ่งผมได้คิดขึ้นว่าประสบการณ์ที่ผมมีอยู่นั้นน่าจะมีการจัดการให้เป็นความรู้มากขึ้น ถึงแม้ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีเอกสารอ้างอิงทางการแพทย์ แต่ก็เป็นความรู้ที่ได้เรียนจากชีวิตจริงของผู้ป่วยโรคลมชัก จึงเป็นที่มาของเรื่องราวต่างๆที่ผมจะเล่าให้ท่านฟังเป็นตอนๆ ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องจริงถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือให้ท่านได้อ่านอย่างน้อยสัปดาห์ละเรื่อง เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ป่วยทุกคน ซึ่งเปรียบเสมือนครูของผมทุกคน